AOT เชื่อมั่นปี 66 ฟื้นชัดหลังคาดผู้โดยสารกลับมา 80% พร้อมรุกธุรกิจใหม่เพิ่ม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในงบปี 66 (ต.ค.65-ก.ย.66) ทั้ง 6 สนามบิน รวม 110-120 ล้านคน หรือ 80% ของจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 62 ที่มี 140 ล้านคน โดยคาดหวังจีนจะเปิดประเทศ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ก็น่าจะจบ

ทั้งนี้ คาดว่าการเดินทางภายในประเทศน่าจะกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด -19 ไม่น่าเกิน 6 เดือน ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้โดยสารระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิสูงขึ้นมาที่ 4 พันคน/วัน จากช่วงเริ่มแรกของการเปิดประเทศ 1 พ.ย.เข้ามา 2-3 พันคน/วัน

“ในปีงบประมาณ 65 เราประเมินผู้โดยสาร 62 ล้านคน ปีนี้เราไม่ได้คาดหวังมาเยอะ ไม่ได้คาดหวังการฟื้นตัว แต่ในปี 66 ผู้โดยสารเริ่มเข้ามามาก คาดไว้ 110-120 ล้านคน คาดหวังจีนจะเปิดประเทศ”

นายนิตินัย กล่าว

ในระหว่างนี้บริษัทได้เตรียมดำเนินการหลายโครงการที่จะทำรายได้ ที่มาจาก Non-Aero ที่เป็นธุรกิจใหม่ ได้ก่ การเปิดศูนย์ Certify Hub ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในเม.ย.66 ขณะที่ AOT Digital Platform ที่ใช้ชื่อ “SAWASDEE” เปิดตัววันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยปัจจุบัน มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 6 แสนราย โดยแอพนี้จะสร้างโลกเสมือนจริงที่จะขยายสู่ e-Commerce

สำหรับโครงการ Airport City นายนิตินัย กล่าวว่า ที่ดินในแปลง 37 ซึ่งตั้งอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ได้แก้ไขข้อตกลงกับกรมธนารักษ์แล้ว ส่วนที่ดินพื้นที่ 723 ไร่ที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิก็ได้เปลี่ยนโซนการใช้ที่ดินแล้ว บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการหาเอกชนเข้าดำเนินการในที่ดินทั้งสองแปลงในเดือน ธ.ค.64-ม.ค.65 ซึ่งปัจจุบันมีข้อเสนออยู่กว่า 10 โครงการ

นายนิตินัย กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมรับโอนท่าอากาศยาน 3 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ ซึ่ง 2 แห่งนี้จะเป็น Hub ในอีสานที่จะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสามารถแข่งขันกับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้ จากปัจจุบันมีฮับทางเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย และทางใต้ที่ภูเก็ตและหาดใหญ่ ส่วนสนามบินกระบี่ที่รองรับผู้โดยสารที่ล้นมาจากสนามบินภูเก็ต โดยคาดกว่าในเดือน ม.ค.65 จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้

ขณะที่การขยายเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินออกไปอีก 1 ปีจนถึงปี 66 จะช่วยทำให้สามารถประคับประคองผู้ประกอบการไม่ล้มหายไปรอจนสถานการณ์การบินดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันยกเลิกกิจการไปแล้ว 26% หรือ 900 กว่าสัญญาจากทั้งหมด 2 พันกว่าสัญญา อนึ่ง บริษัทได้ยกเลิกการจ่าย Minimux guarantee สำหรับผู้ประกอบการพื้นที่เขิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ในงบปี 65 บริษัทก็ยังมีรายได้จากผู้ประกอบการในพื้นที่สนามบิน 3,037 ล้านบาท

“เราแทบไม่มีทางเลือก ถ้าหากเราไม่ดำเนินการต่อมาตรการช่วยเหลือ ร้านค้ากว่าครึ่งจะล้มหายตายจากไป และทอท.กว่าจะหาผู้ประกอบการเข้ามาให้เต็มพื้นที่ต้องใช้เวลา 10 ปี”

นายนิตินัย กล่าว

ส่วนกรณีบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัดนั้น ทอท.ได้เลื่อนเปิดอาคารแซทเทิลไลท์ (SAT-1) ออกไป 1 ปี ไปเป็นปี 66 ซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ ก็ไม่มีรายได้จากคิงเพาเวอร์ในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ก็จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ต่อหัว (sharing per head) จากการกลับมาเปิดให้บริการเทอร์มินัลหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top