ก.เกษตรฯ หารือความร่วมมือ USABC หนุนเกษตรกรปรับตัวรับวิกฤตโควิด-19

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายไมเคิล มิคาลัค (Amb. Michael W. Michalak) รองประธานกรรมการอาวุโส และกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคของ USABC (Senior Vice President and Regional Managing Director, USABC) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเกษตร และความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการต่างๆ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตลอดจนผู้แทนจาก 8 บริษัท หน่วยงานยูเอส แดรี่ เอ็กซ์ปอร์ต เคาน์ซิล (U.S. Dairy Export Council: USDEC) และผู้แทน USABC เข้าร่วมประชุมทางออนไลน์

นายนราพัฒน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้น ภาคเกษตรของไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน และต้องมีการฟื้นฟูเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป โดย GDP เกษตรในไตรมาส 3 ปีนี้ (ก.ค.-ก.ย. 64) ขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ พืช ปศุสัตว์ บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด ลำไย เนื่องจากสภาพอากาศและน้ำเอื้ออำนวย กลุ่มสินค้าปศุสัตว์มีปริมาณการผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ น้ำนมดิบเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด

ส่วนบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่เก็บเกี่ยวในพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สาขาประมง หดตัว 3% เนื่องจากผลผลิตประมงลดลง โดยเฉพาะกุ้งแวนาไม ลดลง 8% เพราะมีการปรับลดพื้นที่การเลี้ยงและลูกพันธุ์ช่วงโควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังคงเน้นย้ำเดินหน้าขับเคลื่อนงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรเร่งด่วน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม สร้างโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงเทคโนโลยี สร้างมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางตลาดผ่านนโยบายตลาดนำการผลิต และขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย BCG Economy Model เป็นต้น

“ได้รับฟังรายงานข้อมูลจากแต่ละบริษัทได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ กิจกรรม และการดำเนินงานต่างๆ ด้านการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเกษตรและอาหารของไทย มีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากโควิด-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทยชนิดใหม่ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย”

นายนราพัฒน์ กล่าว

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยินดีให้ความร่วมมือในโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 3’S (Safety – Security – Sustainability) เพื่อตอบโจทย์ความมุ่งมั่นในการยกระดับ Global Food Security Index ของไทยในปีต่อๆ ไปให้สูงขึ้น ได้แก่

1. ด้าน Safety ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ข้าว ประมง ปศุสัตว์ ยกระดับการผลิตสู่มาตรฐานความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

2. ด้าน Security ควบคุมและป้องกันโรคระบาดในพืชและสัตว์ ผ่านการส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพการปศุสัตว์ และปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำจืดและทะเล พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบหมุนเวียน

3. ด้าน Sustainability เน้นระบบการทำเกษตรที่ยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในสินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์ ข้าว และหม่อนไหม กระจายและพัฒนาแหล่งน้ำอย่างทั่วถึง และป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง

“นายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรฯ ได้สนับสนุนการเป็น Partnership ร่วมกับประเทศต่างๆ ในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยินดีร่วมมือกับภาคธุรกิจต่างชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เชื่อมโยงตลาด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตร ตามนโยบาย 3’S รวมถึงความร่วมมือเพื่อปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน”

นายนราพัฒน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top