กทม. เฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์โอไมครอนใกล้ชิด แนะปฎิบัติตาม UP เคร่งครัด

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ติดตามและเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด โดยสำนักนามัย กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

รวมถึงได้มีการปรับมาตรการการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรจากทวีปแอฟริกา โดยมีการเพิ่มจำนวนวันกักตัว วันคุมไว้สังเกต และการห้ามเข้าประเทศ และต้องตรวจ RT-PCR รวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 0-1, วันที่ 5-6 และวันที่ 12-13

นอกจากนี้ จะจัดเจ้าหน้าที่สำรวจตรวจสอบชุมชนที่มีชาวแอฟริกันอาศัยอยู่ หากมีผู้เดินทางเข้ามาใหม่ จำเป็นต้องกักตัวตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนร่วมกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีคนแปลกหน้าเข้ามาอาศัยโดยพลการ

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ได้มีการเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ สถานพยาบาล รวมไปถึงระบบที่จะควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว ไม่กระจายไปเป็นพื้นที่กว้าง รวมถึงการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับการเตรียมความพร้อมยกระดับแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในพื้นที่กรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล มาตรการทางสังคม อาทิ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่คณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร กำหนดและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการ Swab และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 อย่างเต็มกำลัง และทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งตัวเอง และครอบครัว กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามแนวคิดเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) 10 ข้อ ดังนี้

  1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  2. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
  3. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
  4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
  5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
  6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น (น้อยครั้ง และใช้เวลาสั้นที่สุด)
  7. ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
  8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  9. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และ
  10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

ในส่วนของผู้ประกอบการ แนะนำให้ดำเนินการตามมาตรการ COVID-Free Setting ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

1. Covid Free Environment ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดโควิด องค์กรต่างๆ ต้องมีระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาดปลอดภัย เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง

2. Covid Free Personnel ด้านผู้ประกอบการ พนักงานต้องปลอดโควิด ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

3. Covid Free Customer ด้านผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าก็ต้องปลอดโควิด โดยให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด และแสดง green card สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือแสดง yellow card สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ หรือมีผล ATK เป็นลบภายใน 7 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top