กรมป้องกันฯ เร่งช่วยผู้ประสบอุทกภัยใน 6 จังหวัด ระดับน้ำลดลงแต่ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ว่า ได้ติดตามสภาวะอากาศ ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2565

ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 4 (53/2565) ลงวันที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่าพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2565 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง มีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 21 – 24 มีนาคม 2565 ดังนี้

– พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง กระบี่ พังงา ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

– พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่

จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

 

โดยได้ประสานให้จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัย และทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากประเมินแล้วมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top