เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 1,942.42 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ซื้อกิจการ-ขยายธุรกิจ

บมจ.เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมารกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 1,942,422,738 หุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท 971,211,369 หุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด 971,211,369 หุ้น คิดเป็น 20% รวมทั้งหมดคิดเป็น 40% โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทจะนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มธุรกิจดิจิทัล/อีคอมเมิร์ซ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการที่อาจมีขึ้นในอนาคต เพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย รวมทั้งเสนอตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการ และพิจารณารวมกิจการกับธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ในตลาด และเสริมขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัทฯ

นอกจากนั้นจะใช้เป็นเงินทุนเพื่อการขยายธุรกิจ, ใช้เป็นเงินลงทุนในแพลตฟอร์ม EcommerceIQ และเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ เพื่อขยายขอบเขตคุณสมบัติ (Feature) และผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ (Solution) และใช้ลงทุนในระบบอัตโนมัติสำหรับกระบวนการภายในบางอย่าง, ใช้พัฒนาแพลตฟอร์ม EcommerceIQ SaaS และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป เป็น Holding Company ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) อย่างครบวงจร รวมถึง การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ (E-commerce Strategy Consulting) การพัฒนาร้านค้าออนไลน์ (Webstore Development) การดำเนินการร้านค้าแบรนด์ (Brand Store Operations) การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ (Performance Marketing) คลังสินค้าและบริการคลังสินค้าครบวงจร (Warehousing and Fulfillment) การรับชำระเงินและการจัดส่งสินค้า (Payment and Delivery) ศูนย์บริการและดูแลลูกค้า (Customer Care Solutions) และการวิเคราะห์ข้อมูลและการให้ข้อมูลในเชิงลึก (Data Analytics and Insights)

บริษัทประกอบกิจการอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย โดยในประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และของแพลตฟอร์มเทคโนโลยี (Technology Platform) ซึ่งมีการใช้งานร่วมกันสำหรับทั้งภูมิภาค

ณ วันที่ 3 ธ.ค.64 ACOM HK ถือหุ้นใน ACOM จำนวน 3,715,845,460 หุ้น คิดเป็น 99.9% ของหุ้นทั้งหมด โดยโครงสร้างการถือหุ้นใน ACOM HK มี DKSH China (Holding) Limited เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 21.50% และ Sealine Pte Ltd 21.23%

ผลการดำเนินงานในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้รวม 2,988.5 ล้านบาท 4,601.5 ล้านบาท และ 7,292.8 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่มีผลขาดทุน (958.8) ล้านบาท (652.7) ล้านบาท และ (83.1) ล้านบาท

ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 64 (ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) บริษัทมีรายได้รวม 6,339.7 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 6,763.2 ล้านบาท ขาดทุน (492.6) ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 206.3 ล้านบาท เป็นผลจากเงินกู้ยืมภายในกิจการระหว่างบริษัทกับบริษัทย่อย ซึ่งอยู่ในสกุลเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการแปลงเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นเงินสกุลบาทภายในปลายปี 64 คาดว่าจะทำให้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะลดลง

ณ วันที่ 30 ก.ย.64 (ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ) บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2,411.8 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,250.9 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 160.9 ล้านบาท

ทั้งนี้ นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท คณะกรรมการบริษัทอาจพิจารณาการจ่ายเงินปันผลประจำปี โดยจะต้องนำเสนอเพื่อขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีอำนาจอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลได้และให้รายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป

นายวีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ก่อตั้ง เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมากว่า 8 ปี โดยเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี (Tech Company) ที่เป็นผู้นำการให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ยอดขายสินค้ารวม (GMV) ในปี 63 ให้แก่ผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรใน 5 ประเทศ

บริษัทช่วยให้ผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรสามารถสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซและขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ขายตรงของแบรนด์ (ร้านค้า brand.com) บนร้านค้าอย่างเป็นทางการบนตลาดซื้อขาย (Marketplaces) หลัก และแพลตฟอร์มสื่อสังคม (Social Media Platform) รายใหญ่ เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ยังคงสอดคล้องกับตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์นั้น ๆ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแพลตฟอร์มเทคโนโลยี (Technology Platform) ของบริษัทฯ ภายใต้ชื่อ EcommerceIQ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรสามารถใช้ประโยชน์จากชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมต่างๆ เช่น การบริหารการจัดจำหน่ายหลายช่องทางการขาย (Channel Management) การจัดการคำสั่งซื้อ (Order Management) การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ (Logistics Management) การบริหารจัดการผู้บริโภค (Customer Management) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซและการจัดเก็บข้อมูล

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ SaaS (Software as a Service) ภายใต้ชื่อ EcommerceIQ SaaS ในปี 64 ที่ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับการบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อให้ผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรสามารถทำความเข้าใจผู้บริโภคขั้นปลายและคู่แข่งของตน ทั้งนี้ ณ วันที่ของเอกสารฉบับนี้ ผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS มีคุณสมบัติในการให้การบริการสองรูปแบบ ได้แก่ บริการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด (Market Insight) และบริการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้ใช้บริการ อีคอมเมิร์ซครบวงจร (Client Analytics) รวมถึงให้บริการผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง (Value Added Services) ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้

บริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบนตลาดซื้อขาย (Marketplaces) และแพลตฟอร์มสื่อสังคม (Social Media Platform) เพื่อนำเสนอประสบการณ์แบบไร้รอยต่อแก่ผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าของลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของบริษัทฯ รวมถึงสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“เรามีความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคกับผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมายในหลากหลายกลุ่มสินค้า อาทิเช่น สินค้าอุปโภคบริโภค แฟชั่น ความงามและสินค้าหรูหรา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และครัวเรือน เป็นต้น โดยแบรนด์ชั้นนำต่างประกอบไปด้วย ยูนิลีเวอร์ (Unilever) 3เอ็ม (3M) นารายา (Naraya) ควิกซิลเวอร์หรือบอร์ดไรเดอร์ส (Quicksilver หรือ Boardriders) เรกคิทท์ (Reckitt) ฯลฯ

โดยตามข้อมูลของ Inter Brand ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการแก่กลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรที่เป็นแบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 14 แบรนด์จากลำดับ 100 แบรนด์แรกในปี 2564 บริษัทฯ มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดจำกัดการเชื่อมต่อข้อมูลและเพิ่มความสามารถการให้บริการใหม่ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกนำมาสู่การเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3/64 บริษัทมีผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร 120 ราย บริหารจัดการสินค้ากว่า 35,574 รายการ และมีให้การอำนวยความสะดวกแก่ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ โดยมีมูลค่าคำสั่งซื้อเฉลี่ย (Average Order Value) 1,305.6 บาทต่อออเดอร์ โดยในงวด 12 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทได้ให้การบริการแบบครบวงจรแก่คำสั่งซื้อสินค้ากว่า 7.8 ล้านรายการ คิดเป็นยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) กว่า 9,500.2 ล้านบาท และนับตั้งแต่การเริ่มประกอบกิจการ บริษัทฯ ได้เชื่อมต่อผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรกับผู้บริโภคขั้นปลายแล้วกว่า 11.6 ล้านราย” นายพอล กล่าว

บริษัทวางกลยุทธ์การเติบโต 6 ส่วน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ได้แก่ 1.มุ่งพัฒนาความเป็นพันธมิตรและการบูรณาการกับแบรนด์ที่มีอยู่ (การขายผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่ม (Cross Sell) และการเพิ่มยอดขาย (Upsell)) 2.ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม EcommerceIQ และบริการที่มีอยู่ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคำสั่งซื้อให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 3.ขยายเครือข่ายและขอบเขตการให้บริการในพื้นที่ภูมิศาสตร์ใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.ขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และขยายเข้าไปยังกลุ่มใหม่ของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ 5.การพัฒนาแพลตฟอร์ม EcommerceIQ SaaS เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ อีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่และตลาดใหม่ที่เป็นไปได้ทั้งหมดของบริษัทฯ และ 6.การหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และการเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ และส่งเสริมธุรกิจเดิมและ/หรือการขยายธุรกิจเข้าไปในพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือตลาดใหม่

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยรายได้รวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 2,988.5 ล้านบาทในปี 61 เป็น 4,601.5 ล้านบาทในปี 62 และเป็น 7,292.8 ล้านบาทในปี 63 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 56.2% ต่อปี และรายได้รวมสำหรับงวด 9 เดือนxu 64 เพิ่มขึ้นจาก 5,232.7 ล้านบาทในปี 63 เป็น 6,339.7 ล้านบาทในปี 64 คิดเป็นอัตราเติบโต 21.2% ต่อปี

ขณะเดียวกัน Operating EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี กำไรและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก (790.3) ล้านบาทในปี 2561 เป็น (478.4) ล้านบาทในปี 2562 และเป็น 111.7 ล้านบาทในปี 63 และสำหรับงวด 9 เดือนปี 64 จาก 113.0 ล้านบาทในปี 63 เป็น (120.2) ล้านบาทในปี 64 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกิจการโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

“จากข้อมูลของ Euromonitor คาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 19.8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 63-68 จากยอดขายสินค้ารวม (GMV) ที่ 52.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 เป็นยอดขายสินค้ารวม (GMV) ที่ 129.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 68 จากการเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยมี COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) ต่อปีในปี 63 ถึง 85.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 62 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณคำสั่งซื้อ 69.6% และมูลค่าคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ย (Average Order Value) 9.5%”

 นายพอล กล่าว

นางสาว วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป มีจุดแข็งด้านการให้บริการการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปครบวงจร (end-to-end ecommerce) แบบผ่านแพลตฟอร์ม Ecommerce IQ และผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ Ecommerce IQ SaaS อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซที่มีความซับซ้อน การบริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีเอกลักษณ์โดยมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเทคโนโลยีที่มีการเชื่อมต่อและสามารถปรับขยายรองรับการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ ช่วยให้วางกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 5 ประเทศ และด้วยขีดความสามารถของบริษัทฯ ส่งผลให้สามารถเข้าเป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคที่สำคัญของผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรกับองค์กรระดับโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top