PTT จับมือพันธมิตรผลักดันใช้ก๊าซอุตฯหนุนลดคาร์บอน ศึกษาต่อยอดสู่ไฮโดรเจน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยในงานสัมมนา “The Shape of Future: Utilization of LNG Cold Energy in ASU towards Net Zero Emissions” ว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะ Zero Waste จึงมีความพยามนำพลังงานเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (MAP) ดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซอุตสาหกรรม โดยก่อสร้างโรงงานแยกอากาศ (Air Separation Unit: ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งปัจจุบันได้มีการเดินเครื่องผลิตอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมอง MAP จะมีการเติบโต ตามก๊าซอุตสาหกรรมที่เติบโตทุกปี

ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ ปตท.ก็จะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนั้น ปตท.ก็มีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7, โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 8 หรือโครงการที่กำลังจะแล้วเสร็จ อย่าง สถานีรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ และความต้องการใช้ก๊าซอุตสาหกรรม ก็จะตอบโจทย์เรื่องของการ synergy ของการที่ ปตท.เป็นทั้งพาร์ทเนอร์และผู้ใช้ ในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือยิ่งๆ ขึ้นไปในประเทศไทยและในภูมิภาค

ส่วนความเย็นที่ได้จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) บริษัทจะนำมาใช้ควบคู่กับการดำเนินการทางการเกษตร ขณะเดียวกันก็จะศึกษาในเรื่องของไฮโดรเจน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมถึง Beyond หรือธุรกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพลังงานด้วย

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ BIG กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่อยากจะทำวัคซีนให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำให้โลกของเรามีผลผลิตมากขึ้น, การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมที่ไร้ขีดจำกัดจากอากาศ

โดยเรื่องแรกการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย คือทำอย่างไรที่จะดูแลภาคการผลิตของเราให้สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนในการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการร่วมมือกับ ปตท. ในการใช้กระบวนการผลิตจากความเย็น LNG ก็จะเป็นการช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป้าหมายของ BIG ร่วมกับบริษัทแม่ บริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคัลส์ อิงค์ จากสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ.2030 จะลดการปล่อยคาร์บอนราว 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2015 โดย MAP ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่จะทำให้บริษัทไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

นอกจากการดูแลการผลิตของบริษัทแล้ว ยังผลักดันให้อุตสาหกรรมลดการปลดปล่อยคาร์บอน จากประโยชน์ของออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน ทำให้การใช้พลังงานภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้สิ่งแวดล้อมของการผลิตมีความยั่งยืน อีกทั้ง BIG ยังใช้เทคโนโลยีเรื่องของดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมกับจะผลักดันในเรื่องของไฮโดรเจนด้วย โดยตั้งเป้าใช้ไฮโดรเจนในการผลักดันให้อุตสาหกรรม และประเทศไทยก้าวสู่ไฮโดรเจน อีโคโนมี (Hydrogen Economy)

“กลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ใช่แค่ BIG อย่างเดียวแต่อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนเราเติบโตมากจาก Economy of Scale คือยิ่งผลิตมากต้นทุนต่อหน่วยยิ่งถูก และขายในราคาถูก ซึ่งนอกจากจะมีคำว่า Scale ต้องมีคำว่า Scope คือมีการขยายโซลูชั่น การบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายคือเรื่อง Speed

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ BIG พยายามทำจะประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ จะทำอย่างไรที่ Economy of Scale จะเกิด, จะทำอย่างไรที่ Economy of Scope จะเกิด และทำอย่างไรที่ Economy of Speed จะเกิด เมื่อสามารถตอบโจทย์ได้หมด ก็จะตอบโจทย์ ถูก ดี และเร็ว ซึ่งจะเป็นยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะไปควบคู่กับการทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ได้” นายปิยบุตร กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ เหลืองจินดารัตน์ ผู้จัดการทั่วไปของ MAP กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะช่วยให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจ (GDP) เติบโตขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการแยกอากาศ ซึ่งจะได้ก๊าซอุตสาหกรรมประเภท ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน ที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างมาก โดยบริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประเภท S-Curve และ New S-Curve ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถมี Utility ที่เพียงพอ เหมาะสม และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ซึ่งจะสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ได้รวดเร็วมากขึ้น

“การที่เราสามารถลดการใช้ไฟฟ้า จากการใช้พลังงานความเย็นฯ เราสามารถช่วยประเทศลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 30,000 ตัน/ปี โดยประมาณ และด้วยการที่เรามีบริษัทแม่ที่แข็งแกร่ง ทั้ง PTT และ BIG ในการให้คำปรึกษากับลูกค้าทุกคน ในแง่ของการใช้ก๊าซอุตสาหกรรม เพื่อให้ลุกค้าใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งลูกค้าใช้ก๊าซอุตสาหกรรมจาก MAP ก็เปรียบเสมือนกับตัวเขาเองสามารถไปชี้แจงกับลูกค้าฝั่งยุโรปได้อีกทางว่าเขาเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่ Compile กับเรื่องของ Net Zero Emissions ซึ่งตรงนี้จะเป็นกลยุทธ์ที่เราจะนำเสนอต่อก๊าซอุตสาหกรรมต่อไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันโรงงานแยกอากาศ (Air Separation Unit: ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สามารถผลิตออกซิเจนแล้วราว 300 ตัน/วัน ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีออกซิเจนเพียงพอ หากมีการระบาดของโควิด-19 รอบต่อไป และยังมีกำลังการผลิตของไนโตรเจนเหลว และอาร์กอนเหลว อีก 600 ตัน/วัน ก็จะตอกย้ำการเติบโตของธุรกิจใน EEC ของประเทศต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top