รมว.ท่องเที่ยวฯ ยันสามารถจัดงานเคาท์ดาวน์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข สธ.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ว่า จากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้สามารถจัดงานเคาท์ดาวน์ได้ แต่ต้องจัดภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด เช่น ผู้ร่วมงานทุกคนต้องได้รับการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าพื้นที่ และการกำหนดพื้นที่ในงาน ต้องเว้นระยะห่าง 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน เป็นต้น

สำหรับการจัดงานเคาท์ดาวน์ทั้ง 50 จังหวัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำชับพื้นที่ที่ ททท. มีส่วนร่วมในการจัดงานให้ปฎิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว ส่วนงานเคาท์ดาวน์ที่ ททท. ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องนำข้อปฎิบัติของกระทรวงสาธารณสุขไปปฎิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร และตำรวจปฎิบัติหน้าที่ร่วมด้วย เช่น กรณีการกำหนดพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน แต่ในการปฎิบัติจริงอาจมีการกระจุกตัวในจุดใดจุดหนึ่ง เช่น บริเวณหน้าเวที ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือฝ่ายความมั่นคงในการดูแลสถานที่ให้เข้มงวดที่สุด

“กรณีการจัดงานคอนเสิร์ตที่มีผู้คนแออัด เกิดจากก่อนหน้านี้ ไม่มีประกาศมาตรการออกมา แต่เมื่อวานนี้ ได้มีการประชุม ออกมาตรการเพิ่มเติมแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจึงต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดที่สุด และจะปล่อยประชาชนให้ไปรวมตัวกันจำนวนมากไม่ได้ ที่สำคัญต้องจัดกำลังตำรวจ ทหาร เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างจังหวัดเลย สุรินทร์ และอุบลราชธานี ซึ่งมองว่าหลังจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าจะเอาอยู่”

นายพิพัฒน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ ศบค.มีคำสั่งยกเลิกใช้มาตรการ Test&Go กับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศนั้น เชื่อว่ามีผลกระทบแน่นอน แต่จะกระทบมากหรือน้อย ต้องรอประเมินตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้การท่องเที่ยวไทยเป็นช่วงไฮซีซั่น โดยในเดือนพ.ย.- มี.ค. ของทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลี และจีน เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ตามเดิม

นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวอีก 2 แสนคน ที่จะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ เนื่องจากมีการลงทะเบียน Thailand Pass ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 110,000 คน ส่วนอีก 90,000 คน มีการลงทะเบียนไว้ แต่กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้ตอบรับ

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 2 แสนคนนี้ จะเดินทางเข้ามาในประเทศถึงประมาณช่วงกลางเดือนม.ค. 65 และยังสามารถใช้ระบบ Test&Go ได้ แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 หลังจากลงเครื่อง และครั้งที่ 2 หลังจากตรวจครั้งแรก 6-7 วัน ในขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือผู้เดินทางโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ตั้งแต่ที่สนามบิน เพื่อใช้สำหรับการติดตามตัว

“นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ คนไทยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็อย่าไปสัมผัสใกล้ชิด จะเห็นได้ว่ากรณีภูเก็ตแซนด์บอกซ์ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่วันละ 100 ราย แต่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ไม่มีการสัมผัสกัน ต่างคนต่างอยู่ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับเชื้อจากไทยกลับไปสู่ประเทศต้นทาง ทั้งนี้ กลัวการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย และมีครอบครัวในไทย อย่างไรก้ดี ก็ยังถือว่าอยู่ในวงจำกัดที่สามารถควบคุมได้”

นายพิพัฒน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top