พรรคร่วมรัฐบาล ยื่นร่างกม.ลูก 2 ฉบับเข้าสภาพรุ่งนี้ มั่นใจเคลียร์ปมเห็นต่างได้

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (23 ธ.ค.) เวลา 14.00 น. โดยเนื้อหาได้ข้อยุติในภาพรวม แม้มีบางประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะใช้กลไกของกรรมาธิการฯ เพื่อแปรญัตติแก้ไข

อย่างไรก็ดี จากการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทำให้ทราบถึงแนวทางพิจารณา และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติในประเด็นที่ ส.ส.เห็นต่างจากร่าง พ.ร.ป. ที่เสนอโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต. ยกร่างและทำความเห็นนั้น นายนิกร ยอมรับว่า แก้ไขเพียงรายละเอียดตัวเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่พบการแก้ไขปัญหาของนายทะเบียนพรรคการเมืองและพรรคการเมือง ดังนั้น หากให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของรัฐบาลที่เสนอรัฐสภา โดยการยกร่างของ กกต.เป็นร่างหลักในการพิจารณา เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในกระบวนพิจารณา และส.ส.สามารถเสนอแก้ไขได้ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ที่เสนอให้แก้ไขให้ใช้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นผู้แสดงความเห็นต่อรายชื่อผู้สมัครส.ส. ที่พรรคการเมืองจะส่งลงเลือกตั้ง โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งต่างจากกฎหมายฉบับเดิม

ทั้งนี้ การแก้ไขประเด็นดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าสอดคล้องกับ มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ วรรคสองที่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง

นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ยังเห็นต่าง คือ หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.ที่ กกต.และพรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งการสมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ แต่ของพรรคร่วมเสนอให้แยกคนละเบอร์ โดยเหตุผลสำคัญที่พรรคร่วมเสนอดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90

นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับปฏิทินทำงานต่อการแก้ร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่าภายในกลางเดือนมกราคม 2565 รัฐสภาจะพิจารณาในวาระรับหลักการ และตั้งกรรมาธิการฯ พิจารณา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่รับหลักการ ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top