เสรีพิศุทธ์ ตามถล่ม สิระ จ่อฟ้องอาญาฐานแจ้งเท็จกรณีขอเครื่องราชฯ/ปัดส่งส.ส.ลงชิงพื้นที่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ต่อมาจะเป็นหน้าที่ของสภาฯ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนเคยไปแจ้งความดำเนินคดีที่ กกต. เพราะนายสิระ เคยแจ้งความเท็จต่อกกต. ตอนที่สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับคุณสมบัติ โดย กกต.บอกว่าให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป ต้องเรียกตัวนายสิระ มารับทราบข้อกล่าวหา และสรุปฟ้องได้เลย โดยมีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี ส่วนทางสภาฯ จะต้องเรียกคืนเงิน ทั้งเงินเดือน เบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้งหมด สวัสดิการต่างๆ ที่นายสิระ อาจจะเบิกรักษาพยาบาล นอกจากนี้ นายสิระ ยังมีผู้ช่วย ส.ส.อีก 8 คน รวมทั้งสิ้น 2 ปี เป็นเงินประมาณ 10 ล้านกว่าบาท”

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า กกต. จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และนายสิระ ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ต้องจ่ายเงินไปก่อน และเรียกเก็บกับนายสิระในภายหลัง หากนายสิระไม่จ่าย ก็จะต้องมีการฟ้องร้องต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นว่านายสิระ แจ้งความเท็จกับสภาฯ ในการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ซึ่งตนได้ขอเอกสารไปที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับคำตอบว่าได้ส่งเอกสารไปที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดแล้ว ตนจึงทำเรื่องขอเอกสารไปยังเลขาฯ ครม. แต่รองเลขาฯ ครม.ปฏิเสธไม่ให้เอกสาร โดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4 ได้ยกเว้นการกระทำของสภาฯ หรือกมธ.

“ผมทำในฐานะประธานกรรมาธิการ แต่เมื่อไม่ยอมให้ และผมได้ตั้งเรื่องนายสิระ ในการแจ้งความเท็จในการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ผมก็จะต้องดำเนินคดีเลขาฯ ครม. และรองเลขาฯ ครม. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผิดทั้งประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตหลักสี่ ของพรรคเสรีรวมไทยนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เมื่อดูคะแนนเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคเสรีรวมไทย อยู่ลำดับที่ 5 หากจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เกรงว่าคะแนนของพรรคฯ จะไปตัดกับพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคพลังประชารัฐชนะได้ ดังนั้นจึงยอมจะไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้สมัครฝ่ายค้านได้เป็นส.ส.ในเขตนี้ เพราะใครได้เป็น ส.ส. ก็ทำงานให้ประเทศชาติบ้านเมืองได้เหมือนกัน

ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดยสำนักงานการคลัง กำลังดำเนินการรวบรวมจำนวนเงิน เพื่อรายงานไปยังเลขาธิการสภาฯ จากนั้นจะแจ้งไปยังนายสิระ ให้คืนเงินภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว ส่วนเป็นเงินจำนวนเท่าไรนั้น คงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่สำหรับหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเงินกรณีนี้ ซึ่งเคยใช้กับอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล รายหนึ่งที่มีกรณีใกล้เคียงกัน คือ พ้นจากสมาชิกภาพและตอนนี้อยู่ระหว่างการคืนเงินให้สภาฯ

สำหรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ส.ส. มีดังนี้ 1.เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม คิดตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือ วันที่ 24 มี.ค. 62 – 22 ธ.ค.64 เดือนละ 113,560 บาท 2.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประชุม คือ ค่าพาหนะ 3.ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การประชุม 1 ครั้ง เบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท วันละไม่เกิน 2 คณะ เบี้ยประชุมคณะอนุกมธ.ครั้งละ 800 บาท วันละไม่เกิน 2 ครั้ง 4.ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้สมาชิก คือ ผู้ช่วย ส.ส. 5 คน คนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้ชำนาญการประจำตัว ส.ส. 2 คน คนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. 1 คน 2.4 หมื่นบาท 5.ค่าโดยสารเครื่องบินโดยใช้ใบเบิกทาง 6.ค่ารักษาพยาบาล มีขั้นตอน และอัตราการเบิก และ 7.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กมธ.

ทั้งหมดนี้ เมื่อแจ้งไปยังนายสิระแล้ว จะต้องคืนเงินภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ระหว่างนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ กำลังรวบรวมเงินซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อความถูกต้องชัดเจน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top