สัมภาษณ์พิเศษ: ATP30 วันหุ้น “All Time High” บนฐานกำไรใหญ่กว่าเดิม

กลายเป็นหนึ่งในหุ้นร้อนแรงช่วงปลายปี 2564 สำหรับหุ้นของ บมจ.เอทีพี 30 (ATP30) แม้ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ แต่ด้วยทิศทางการเติบโตของผลประกอบการที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ถึงโอกาสทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบปี 65 ส่งผลให้ราคาหุ้น ATP30 ปรับตัวขึ้นมาทำนิวไฮได้อีกครั้งที่ 2.44 บาทเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 เรียกได้ว่าผู้ลงทุนที่ถือหุ้น ATP30 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านต่างรับรีเทิร์นจากส่วนต่างของราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 160% !!

ATP30 ถนนสู่ความสำเร็จจากอดีตสู่อนาคต

นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ ATP30 เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ATP30 ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 15-16 ปี ดำเนินธุรกิจให้บริการรถโดยสารขนส่งบุคลากรระหว่างแหล่งที่พักอาศัย ไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ และด้วยการมีพาร์ทเนอร์ที่ดี ประกอบกับ Business Model ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 58 บริษัทเริ่มมีข้อจำกัดเรื่องของเงินลงทุน จึงตัดสินใจเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อขยายกิจการ นำมาสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา

“หลังจากที่เข้าสู่การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อัตราการเติบโตของบริษัทก็เร่งตัวขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี แต่ก็มีที่ลดลงเล็กน้อยในช่วงปี 63 จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 64 กลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทคือการมุ่งเน้นคุณภาพของการให้บริการ โดย ATP30 เป็นผู้ให้บริการรายแรก ๆ ที่ได้รับการรับรองของมาตรฐานความปลอดภัยทางท้องถนนสำหรับรถที่ใช้ในการขนส่งบุคลากร และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาระหว่างเผชิญสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการให้บริการมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับบริษัทได้”

นายปิยะกล่าว

เติบโตกระโดดไปพร้อม “พันธมิตร”

สำหรับพัฒนาการทางธุรกิจที่โดดเด่นได้เกิดขึ้นในปี 64 ภายหลังจากที่บริษัทร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายสำคัญอย่างบริษัท โตโยต้า ทูโช ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (TTTH) ซึ่งเป็นบริษัทที่สนับสนุนภาคการผลิตให้กลุ่มอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น ทั้งการให้บริการโลจิสติกส์หรือการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว เนื่องจาก TTTH มีจำนวนลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ทำให้ ATP30 สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มได้

อีกหนึ่งพาร์ทเนอร์อย่าง บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ (RP) ที่ทาง ATP30 ต้องหยุดวิ่งรถเชื่อมโยงการให้บริการระหว่างกันในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดโควิด-19 แต่ปัจจุบันเริ่มกลับมาให้บริการแล้วในวันที่ 5 ธ.ค. 64 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้รายได้ส่วนนี้ทยอยกลับเข้ามา *ถึงเวลานำร่องปี 65 สู่เทรนด์ “รถโดยสารไฟฟ้า”

จากการศึกษาเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงตัดสินใจเตรียมจะเริ่มนำรถโดยสารไฟฟ้ามาทดลองให้บริการในปี 65 บางเส้นทางเพื่อเป็นการนำร่อง แม้ว่าปัจจุบันการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทมีธุรกิจบริหารจัดการระบบการเดินรถให้กับบริษัท EVME PLUS ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล และ บริษัท ARUN PLUS ประกอบธุรกิจให้บริการรถโดยสารไฟฟ้ามินิบัส ส่งผลให้บริษัทได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครอบคลุมในหลายมิติ

“ทิศทางของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เรามองเห็นโอกาสการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งต่าง ๆ มากขึ้น แม้ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตน่าจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น จากที่เราติดตามราคาแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า พบว่ามีราคาลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจากการประเมินความคุ้มค่าของการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับธุรกิจของเรา พบว่ามีบางเส้นทางที่คุ้มค่า อย่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง ที่มีกลุ่มโรงงานที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงและมีจำนวนเที่ยววิ่งค่อนข้างสูง”

นายปิยะกล่าว

ปี 65 โตบนฐานใหม่ใหญ่กว่าเดิม

ภายหลังจากการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายสำคัญในปีนี้ ทำให้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตเพิ่มเป็นราว 25% ในปี 65 หรือแตะที่ 600 ล้านบาท จากเดิมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี และจะพยายามรักษา Gross Profit Margin ให้อยู่ที่ระดับ 25% ซึ่งจะส่งผลให้ Net Profit อยู่ที่ประมาณ 10%

พร้อมกับวางงบลงทุน 260 ล้านบาทในปี 65 สำหรับการเพิ่มจำนวนรถโดยสาร 100-150 คัน จากปัจจุบันมีรถโดยสารประมาณ 600 คัน แบ่งเป็นรถบัสและมินิบัส 300 คัน และ รถตู้อีก 300 คัน

“หากประเมินจากศักยภาพการแข่งขันและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรายังคงมั่นใจว่าจะสร้างการเติบโตได้ราว 25% ในปี 65 จากการเข้ามาของพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง ส่วน Gross Profit Margin แม้ว่าในปี 64 จะอยู่ต่ำกว่าที่คาดที่ 20% จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง และการเพิ่มจำนวนรถระหว่างปีปริมาณมาก ส่งผลให้ต้นทุนของพนักงานขับรถสูงกว่าปกติ แต่คาดว่าในปี 65 น่าจะกลับมายืนได้ที่ระดับ 25% ประกอบกับกลยุทธ์พัฒนาระบบ Robotic Process Automation ก็จะช่วยให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ”

นายปิยะกล่าว

เดินทางไกลเป้า 4-5 ปีแตะ 1 พันล้านบาท

ปัจจุบันคาดการณ์ว่ารายได้แต่ละปีจะเติบโตเฉลี่ย 20-25% หากเป็นไปตามเป้าหมายภาพรวมรายได้จะไปแตะ 1 พันล้านได้ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนกันพันธมิตรในการขยายธุรกิจ มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้จะแตะ 1 พันล้านบาทก็คงเห็นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุดบริษัทมีแผนขยายเพิ่มพื้นที่การให้บริการเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง เช่น สระบุรี อยุธยา ถึงแม้ว่าอาจมีผู้ให้บริการในพื้นที่อยู่แล้ว แต่มั่นใจว่าคุณภาพของการให้บริการทั้งความพร้อมของตัวรถและพนักงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ทำให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันในพื้นที่ดังกล่าวได้

“บริษัทเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการบริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนขยายธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการระบบการเดินรถ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของบริษัท ทั้งลูกค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันให้มีสัดส่วนที่เติบโตมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง”

นายปิยะกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top