เงินเฟ้อไทย ธ.ค. หดตัว -0.27% ติดลบต่อเนื่อง ปี 63 หดตัว -0.85%

  • พาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 63 หดตัว -0.27% YoY จากตลาดคาดการณ์ -0.40% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 0.19%YoY
  • อัตราเงินเฟ้อไทยทั้งปี 63 หดตัว -0.85% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัวที่ 0.29%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.63 อยู่ที่ 102.34 หดตัว -0.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.40% แต่ขยายตัว 0.15.% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ขณะที่ CPI ปี 63 หดตัว -0.85%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 103.00 ขยายตัว 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.05% จากเดือน พ.ย.63 ส่วนปีนี้ Core CPI ขยายตัว 0.29%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืดแม้เงินเฟ้อในปี 63 ติดลบต่อเนื่อง เนื่องราคาสินค้าหลายชนิดยังเพิ่มขึ้น และดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวยังมีแนวโน้มดี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.ที่หดตัวลดลงมาที่ -0.27% ถือว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ จากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ

สำหรับสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ และค่าผ่านทางพิเศษ ปรับลดลงตามมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิต

โดยการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการได้ผลดีและได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 19 เดือน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากสถานการณ์สามารถกลับเข้าสู่ปกติได้เร็ว จะช่วยให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลกำหนดได้ในปีหน้า

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 63 ที่หดตัว -0.85% ยังเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ -0.7 ถึง -1.5% อย่างไรก็ดี มีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง นอกจากนี้ หมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา โดยเฉพาะค่าทัศนาจรต่างประเทศและค่าห้องพักโรงแรมปรับลดลง จากการจำกัดการเดินทางและการท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดอาหารสด โดยเฉพาะผัก ซึ่งราคาสอดคล้องกับผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมวดอื่น ๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 63 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี

พร้อมยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 63 จะอยู่ในระดับที่ติดลบ แต่ยังไม่ใช่ภาวะของเงินฝืด เนื่องจากสินค้าและบริการหลายรายการยังมีราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับเครื่องชี้ดัชนีเศรษฐกิจในหลายตัวยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นในปี 63 ยังเป็นตัวที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับมาตรการของภาครัฐและกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ในปี 63 ภาคเกษตรถือเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี และส่งผลต่อไปยังสินค้าคงทน เช่น เครื่องจักร และรถปิกอัพ

“ช่วยปลายปี 63 ถือว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น อยู่ในระยะฟื้นตัวได้ แม้จะไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนัก…แต่ก็มีปัจจัยกดดันเรื่องโควิดเข้ามา ดังนั้นคงต้องติดตามผลกระทบนี้ในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร”

น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

ส่วนทิศทางของเงินเฟ้อในปี 64 นั้น สนค.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปีนี้จะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% โดยมีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ อยู่ที่ 3.5-4.5%, ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 40-50 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 30-32 บาท/ดอลลาร์

โดยอัตราเงินเฟ้อ ปี 64 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยด้านอุปสงค์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน อีกทั้งความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะส่งผลต่อราคาพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมาก

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะยังติดลบแต่ไม่เกิน -0.50% และจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป

น.ส.พิมพ์ชนก เชื่อว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของปีนี้ติดลบมาก เนื่องจากไม่มีผลกับราคาสินค้าให้ต้องลดลง เพียงแต่จะกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และในภาพรวม แม้จะมีการระบาดของโควิดในปี 63 แต่ไม่พบว่ามีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดที่หลายจังหวัดเริ่มมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ ตลอดจนมีการจำกัดเวลาในการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านนั้น อาจทำให้แนวโน้มการใช้บริการส่งอาหารถึงที่บ้าน (Delivery) มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง สนค.เตรียมจะเสนอประเด็นนี้ให้กับ รมว.พาณิชย์ เพื่อไปหารือกับกระทรวงการคลังในการพิจารณาให้รวมการสั่งอาหารแบบ Delivery เข้าไว้ในโครงการ “คนละครึ่ง” ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top