ครม.อนุมัติงบฯ จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดปี 64 นำเข้าได้ 63 ล้านโดส

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยจะได้ล็อตแรก 8 หมื่นโดสปลายเดือน มี.ค.64 เพื่อฉีดให้กับประชาชน 4 แสนคน ส่วนเดือน เม.ย.64 จะได้รับเข้ามาอีก 1 ล้านโดส เพียงพอกับประชาชน 5 แสนคน และปลายเดือน พ.ค.64 อีก 26 ล้านโดสสำหรับประชาชนอีก 13 ล้านคน

สำหรับกลุ่มเป้าหมายแรก เป็นบุคคลกรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ วัคซีนทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยและต่างประเทศ และได้มีการสั่งจองเพิ่มวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซนเนก้า อีก 35 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอกับประชาชน 66 ล้านคน โดยแบ่งฉีด 2 ครั้งต่อ 1 คน พร้อมกันนั้นจะดำเนินการตามข้อตกลงกับ แอสตร้าเซนเนก้า ที่จะผลิตร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซด์ ให้ได้ปีละ 200 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอทั้งประเทศ

ส่วนล็อตต่อไปจะมีการติดต่อวัคซีนจากประเทศอื่นๆเพื่อให้รวดเร็วและเพียงพอต่อต้องการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการจัดหาวัคซีน ก็เปิดโอกาสให้สามารถจัดหาได้เอง แต่ต้องผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากผลข้างเคียงกับประชาชนถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำยอมรับได้ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ต้องการให้คนไทยปลอดภัย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การจำกัดการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด และนำคนป่วยมารักษาในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยยืนยันว่าทางการมียารักษาเพียงพอ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดสนั้น จากเดิมจะได้รับวัคซีนในไตรมาส 2/63 แต่จากการเจรจาน่าจะได้วัคซีนมาเร็วกว่ากำหนด ซึ่งจะทยอยส่งตามแผนการฉีดวัคซีน โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดส่งและกระจายวัคซีนไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ๆ จาก COVAX Facility อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง และได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพื่อให้ได้วัคซีนครอบคลุมประชาชนไทยร้อยละ 50 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมเป็นกรณีเร่งด่วน โดยไทยได้เจรจาสั่งซื้อกับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส โดยมีวงเงิน 1,228 ล้านบาทเข้ามาโดยเร็วที่สุด ซึ่งวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับคนไทยต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย.ของจีนก่อน และต้องให้ อย.ของไทยอนุมัติเพิ่มเติม จากนั้นในส่วนของการนำเข้าเป็นหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมดำเนินการ และให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อ พร้อมกระจายสู่ประชาชนทั่วไป

โดยแบ่งเป็น 2 แสนโดสแรก จะนำเข้ามาในเดือนก.พ. เพื่อส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานภาคสนาม ในพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ประมาณ 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 180,000 คน

ส่วนวัคซีนล็อตต่อมา คือจำนวน 8 แสนโดสในเดือน มี.ค. จะนำมาฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มแรก 2 แสนโดส และอีก 6 แสนโดส สำหรับกลุ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆและ อสม. จากนั้นในเดือนเม.ย. จะได้รับวัคซีนอีกจำนวน 1 ล้านโดส โดยจะนำมาฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มที่ 2 จำนวน 6 แสนคน และอีก 4 แสนโดสที่เหลือจะฉีดให้กับบุคลากรอื่นๆเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเติมให้จัดซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้สามารถคุ้มครองคนไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ไทยจะได้รับวัคซีนที่สั่งจองไว้กับแอสตร้าเซนเนก้า อีก 26 ล้านโดส คาดว่าจะนำเข้ามาได้กลางปี 64 ดังนั้นในปี 64 ไทยจะมีวัคซีนทั้งหมด 63 ล้านโดส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top