In Focus: โควิด-19 กลายพันธุ์ ภัยคุกคามใหม่กับความท้าทายที่รออยู่

แม้โลกจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2564 ด้วยการขานรับความหวังที่หลายบริษัทสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว แต่ข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษและแอฟริกาใต้ ก็ได้สร้างความหวาดหวั่นไปทั่ว และมีคำถามตามมาว่า ไวรัสกลายพันธุ์นั้นร้ายแรงกว่าตัวเดิมหรือไม่ วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่คิดค้นออกมาแล้วนั้นจะใช้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่ รวมไปถึงคำถามที่ว่า เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์

In Focus สัปดาห์นี้จะพาท่านผู้อ่านไปหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยต่างๆ ดังกล่าว

โควิด-19 กลายพันธุ์ อันตรายกว่าตัวเดิมหรือไม่

อย่างแรกที่ผู้อ่านต้องทราบก่อนก็คือ ไวรัสโควิด-19 (หรือ Sars-CoV-2) มีการกลายพันธุ์มาโดยตลอด และนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวก็ทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งการกลายพันธุ์นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้ไวรัสโควิด-19 เป็นอันตรายมากขึ้น เพราะการกลายพันธุ์บางครั้งก็ทำให้เชื้ออ่อนแอลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B117 ซึ่งเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษตั้งแต่เมื่อเดือนก.ย.ปีที่ผ่านมา รวมถึงสายพันธุ์ 501.V2 ที่พบในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมานั้น แตกต่างไปจากการกลายพันธุ์อื่นๆ ที่พบมา

ผู้เชี่ยวชาญพบว่า ไวรัสโควิด-19 ทั้ง 2 สายพันธุ์ข้างต้น มีการกลายพันธุ์หลายอย่าง โดยเฉพาะบริเวณสไปค์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นปลายแหลมของไวรัส ทำให้สามารถจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนเซลล์มนุษย์ได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้ไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม 50-70%

แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ทั้ง 2 ตัวนั้นมีความร้ายแรงกว่าแบบเดิม อย่างไรก็ตาม อดัม คูชาร์สกี นักระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยลอนดอน (LSHTM) ระบุว่า “ไวรัสที่แพร่ระบาดได้มากกว่าเดิม 50% นั้นเป็นปัญหาใหญ่กว่าไวรัสที่มีอันตรายกว่าเดิม 50%” โดยยกตัวอย่างว่า หากไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ 129 รายต่อเดือน ถ้าหากไวรัสดังกล่าวอันตรายกว่าเดิม 50% จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 193 รายต่อเดือน แต่ถ้าหากไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดได้มากกว่าเดิม 50% จะทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ถึง 978 รายต่อเดือน

นอกจากนี้ นายอาร์โนลด์ ฟอนตาเนต์ นักระบาดวิทยาของสภาวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ยังระบุด้วยว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในอังกฤษนั้นจะติดต่อได้ง่ายกว่าในกลุ่มประชาชนคนหนุ่มสาว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษตัดสินใจประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่ โดยออกแถลงการณ์ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศในวันจันทร์ (4 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และจะออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อต้องซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดทำการ นอกจากนี้ ร้านค้าที่ไม่จำเป็น และธุรกิจบริการที่พักอาศัยก็ต้องปิดทำการเช่นกัน

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะใช้กับโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่

สำหรับคำถามนี้ ถ้าต้องการคำตอบอย่างรวดเร็วก็คือ “ยังใช้ได้อยู่” (ในตอนนี้)

ทั้งนี้ วัคซีนของโมเดอร์นา และวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคจะใช้เทคโนโลยี RNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยจะทำการฉีด mRNA เข้าไปในร่างกายเพื่อ “หลอก” ให้ร่างกายมนุษย์สร้างส่วนที่เป็นสไปค์โปรตีนของไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา เพื่อให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อจัดการเมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิด-19 ตัวจริง ขณะวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า-มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดนั้นจะส่งอะดีโนไวรัส (adenovirus) ที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมของสไปค์โปรตีนของไวรัสโควิด-19 เข้าไปในร่างกายทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัสตัวจริงในภายหลัง

แม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบกับคำถามนี้ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า วัคซีนที่มีอยู่ในตอนนี้ จะสามารถจัดการกับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ได้

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ของแอฟริกาใต้ เนื่องจากในสายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้นั้นพบว่า สไปค์โปรตีนได้กลายพันธุ์ไปในรูปแบบที่ทำให้ไวรัสนั้นสามารถผ่านภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการเคยได้รับเชื้อ หรือเคยได้รับวัคซีนได้

แต่เรายังมีมุมมองด้านบวกก็คือ ทางไบโอเอ็นเทคได้ระบุว่า ถ้าหากจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ก็จะสามารถทำได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้น

โควิด-19 จะกลายพันธุ์เพิ่มอีกหรือไม่

คำตอบคือ ใช่

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์มาโดยตลอดในระหว่างขั้นตอนการแบ่งตัวของเซลล์ เนื่องจากในบางครั้งการแบ่งตัวนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในตัวไวรัส ซึ่งนั่นคือการกลายพันธุ์ ซึ่งไม่จำเป็นว่าการกลายพันธุ์จะต้องทำให้ไวรัสอันตรายหรือแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น แต่หากมีการกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดไวรัสโควิด-19 ที่สามารถเอาชนะวัคซีนได้ และก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเดิม

จากข้อมูลเบื้องต้นอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมากเท่าไร ก็ยิ่งจะมีการกลายพันธุ์ได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราสามารถป้องกันเรื่องดังกล่าวได้ด้วยการพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้

ดร.ดักลาส แคสเปอร์ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พีโอเรียมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และหัวหน้าฝ่ายรับมือโรคโควิด-19 ของโอเอสเอฟ เฮลท์แคร์ ระบุว่า “มันเหมือนกับการซื้อล็อตเตอรี่ ถ้าทุกคนซื้อ ยังไงก็ต้องมีคนถูก (และถ้าคนซื้อน้อยก็อาจไม่มีคนถูกเลย) ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ เราก็จะสามารถจำกัดโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ได้”

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่มาตรการป้องกันยังเหมือนเดิม

ถึงแม้ไวรัสโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม และสายพันธุ์อังกฤษก็ได้แพร่ระบาดไปแทบจะทั่วโลกแล้ว ขณะที่ในสายพันธุ์แอฟริกายังคงพบในแอฟริกาใต้เป็นส่วนใหญ่นั้น โดยรวมแล้วนั้นสายพันธุ์ใหม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมก็คือสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม แต่เราก็ยังคงสามารถใช้มาตรการป้องกันแบบเดิมในการรับมือได้ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ หรือในระดับประเทศก็ยังคงใช้การกักตัวผู้เดินทางเข้าออกจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือระงับการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การที่ไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นนั้นอาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข เนื่องจากระบบการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับภาระหนักเกินไป ดังนั้นคงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันดูแลตัวเองให้มากๆ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงหวังให้ใครมาช่วยเราไม่ได้ นอกจากตัวของเราเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (6 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top