สบน. ยันกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบฯ 63 เป็นไปตามกรอบกฎหมาย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปจำนวน 784,115 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • (1) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งได้มีการขยายเวลาในการกู้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี (Carry Over) จำนวน 101,022 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • (2) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ รวมทั้งสิ้น 683,093 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบเพดานของกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 469,000 ล้านบาท และการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จำนวน 214,093 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท โดยรวมวงเงินชำระคืนเงินต้นจำนวน 89,170.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 ตามกฎหมายมีจำนวน 711,336 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ได้มีการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 โดยให้กระทรวงการคลังโอนงบชำระคืนเงินต้นจำนวน 35,303 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้งบชำระคืนเงินต้นคงเหลือ จำนวน 53,867.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 จึงคงเหลือจำนวน 683,093.92 ล้านบาท

“การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 784,115 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินปีงบประมาณ 2562 (เหลื่อมปี) จำนวน 101,022 ล้านบาท และการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินปีงบประมาณ 2563 จำนวน 683,093 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ”

นางแพตริเซีย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top