CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ กลุ่มแบงก์มองกำไรปี 64 ฟื้นจากหดแรงเหตุสำรองลด,ชู BBL เด่น

โบรกเกอร์แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังประเมินผลประกอบการปี 63 กำไรหดตัวแรงก่อนฟื้นตัวปี 64 เนื่องจากแรงกดดันการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง เพราะทุกธนาคารต่างตั้งไปมากแล้ว ส่งผลให้ผลงานกลุ่มธนาคารผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีก่อนแม้แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้อาจขยับขึ้นไปที่ 4-5% แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการตั้งสำรองฯอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่กลับมาระบาดรอบใหม่ ซึ่งหากยืดเยื้ออาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตของกำไรกลุ่มธนาคารในปีนี้

แต่กลุ่มธนาคารยังมีความน่าสนใจในแง่ของมูลค่าหุ้นที่ยังถูก และปัจจัยหนุนของการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งกลุ่มธนาคารนับเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดี อีกทั้งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวชัดเจน เป็นหุ้นกลุ่มแรกๆที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรของเศรษฐกิจ

จัดหุ้นเด่น คือ หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) แนะนำ “ซื้อ” จากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่ และกำไรปีนี้มีโอกาสเติบโตเป็น 2 หลักหลังแรงกดดันการตั้งสำรองลดลงมากจากที่ตั้งไปสูงในปีก่อน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำ และเข้าลงทุนในธนาคารอินโดนีเซียที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง

ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลางและเล็ก แนะนำ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่มีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง

โบรกเกอร์หุ้นเด่นคำแนะนำราคาเป้าหมายราคาปัจจุบัน
เอเซีย พลัสBBLซื้อ127.00123.50
KBANKซื้อ122.00119.00
TISCOซื้อ95.0089.75
ยูโอบี เคย์เฮียนฯBBLซื้อ125.00123.50
(อยู่ระหว่างปรับราคาเป้าหมาย)
TISCOซื้ออยู่ระหว่างปรับราคาเป้าหมาย89.75
กสิกรไทยBBLซื้อ130.00123.50
KKPซื้อ61.0055.25
ดีบีเอส วิคเคอร์สฯKBANKซื้อ181.00119.00
TISCOซื้อ96.0089.75
TMBซื้อ1.401.17
KBANKซื้อ140.00119.00
เคทีบีเอสทีBBLซื้อ150.00123.50
KBANKซื้อ130.00119.00

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารในปี 64 ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ไม่ยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.พ.64 เพราะก่อนหน้านี้มองว่าหาหากไม่มีการแพร่ระบาดรอบใหม่ก็จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของกำไรกลุ่มธนาคารกลับมาได้ค่อนข้างดี จากปีก่อนที่กำไรหดตัวลงแรงรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนนำไปสู่การพักชำระหนี้และการตั้งสำรองฯที่สูงขึ้น จึงเชื่อว่ากำไรในปี 63 ที่กลุ่มธนาคารกำลังจะประกาศออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ มีโอกาสหดตัว 36-37% จากปี 62

ขณะที่ภาพรวมกำไรของกลุ่มธนาคารในปี 64 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นราว 12% จากปี 63 มาที่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท หลังคาดว่าแรงกดดันจากการตั้งสำรองฯจะลดลง หลังที่ธนาคารต่างได้เพิ่มการตั้งสำรองฯไปมากในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของกลุ่มธนาคารยังอยู่ในระดับสูง 150-160% และยังมีเงินกองทุน (BIS ratio) ขั้นต่ำที่สูง 11-12% สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ ที่ยังมีความสามารถรองรับความเสี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม NPL อาจจะยังเห็นภาพของปรับตัวขึ้นได้อีก เพราะมาตรการพักชำระระหนี้ที่แต่ละธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามความเหมาะสมกับผลกระทบของลูกหนี้แต่ละรายยังคงมีอยู่ไปถึงกลางปี 64 คาดว่ามีสัดส่วนราว 24% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมดที่ 12.6 ล้านล้านบาทที่เข้ามาตรการ และหากสิ้นสุดและไม่มีการต่อมาตรการออกไป คาดว่าจะเห็นลูกหนี้ของธนาคารที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ตกชั้นเป็น NPL สัดส่วน 10% และส่งผลให้ NPL เพิ่มขึ้นไปแตะระดับเกือบ 5.5% แต่ถือว่ายังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิกฤติในอดีต ขณะที่เงินสำรองฯ และฐานทุนของธนาคารในปัจจุบันสามารถรองรับได้เพียงพอ

สำหรับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี อาจจะกดดันต่อกลุ่มธนาคารได้บ้าง เนื่องจากกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าจากการที่รัฐออกมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด, การออกมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแนวโน้มของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ที่คาดว่าหากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ยืดเยื้อไปถึงเดือน ก.พ. 64 มีโอกาสที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.50% ซึ่งเป็นความเสี่ยงกดดันกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

หากมองในแง่ของมูลค่าหุ้นกลุ่มธนาคารในปัจจุบันถือว่ายังมีความน่าสนใจในการลงทุน เพราะระดับ PB/V อยู่ที่ระดับ 0.6 เท่า ลดลงค่อนข้างมากจากในอดีตที่เคยขึ้นไปสูงสุดมากกว่า 2 เท่า ทำให้ราคาหุ้นในปัจจุบันยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นกลับไปได้ หากปัจจัยโควิด-19 คลี่คลาย และแนวโน้มของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งยังมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในกลุ่มธนาคาร ซึ่งจะเป็นหุ้นกลุ่มแรก ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหลังจากในช่วงที่ผ่านมาขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนราคาหุ้นของกลุ่มธนาคาร

สำหรับหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” ได้แก่ BBL ราคาเป้าหมาย 127 บาท/หุ้น และ KBANK ราคาเป้าหมาย 122 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ความกังวลในเรื่องของการตั้งสำรองฯสูงน่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้กำไรในปีนี้จะเห็นการกลับมาฟื้นตัวที่ดี และในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ยังมีความต้องการใช้สินเชื่อในระดับที่สูง โดยเฉพาะสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และหากมีการลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐกลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคาร ก็มีโอกาสใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และเป็นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จาก Fund Flow ที่เข้ามาในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วย

ส่วนหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็กที่แนะนำ คือ TISCO ราคาเป้าหมาย 95 บาท/หุ้น จากความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่สูงถึง 6% และธุรกิจของธนาคารมีการกระจายตัว และมีกลุ่มสินเชื่อที่ให้มาร์จิ้นสูงที่ช่วยหนุนกำไร คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และกลุ่มธุรกิจนายหน้าซื้อขายประกัน และกลุ่มธุรกิจตลาดทุน ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีให้กับธนาคารอย่างต่อเนื่อง

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองหุ้นกลุ่มธนาคารในปี 64 เริ่มดีขึ้น จากการคาดการกำไรของกลุ่มธนาคารเติบโต 8-10% ในปีนี้ มาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่คาดว่ากำไรจะอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ลดลงราว 34-35% ซึ่งการเติบโตของกำไรในปี 64 เป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำในปี 63 และแนวโน้มการตั้งสำรองฯของธนาคารลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการตั้งสำรองฯไปมากในช่วงไตรมาส 2/63 อย่าง BBL และ KBANK ส่งผลให้แรงกดดันต่อกำไรในปีนี้คลี่คลาย

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในประเทศ แม้ปัจจุบันอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน แต่หากสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือน มองว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมากนัก และนักวิเคราะห์หลายสถาบันก็ยังมองเศรษฐกิจไทยเป็นบวกได้ในปีนี้ แม้ว่าจะมีบางสถาบันเริ่มปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงมาบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญต่อความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มธนาคาร ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนให้ความสำคัญ คือ การบริหารจัดการ NPL และการตั้งสำรองฯ หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ของธปท. ที่ขยายระยะเวลามาถึงกลางปีสิ้นสุดลง หากไม่มีมาตรการใหม่ออกมาหรือขยายระยะเวลาเพิ่มเติม ซึ่งต้องยอมรับว่าแนวโน้มของ NPL ของกลุ่มธนาคารยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้แตะระดับ 5% จากสิ้นปีก่อนกว่า 3% ซึ่งมองว่าทุกธนาคารมีความสามารถในการจัดการและรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้จากการตั้งสำรองฯไปล่วงหน้าในระดับที่สูงกว่า 150-160% ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้วจะไม่กดดันต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการที่ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมามีความน่าสนใจ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอีกครั้ง หนุนราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปลายปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 30-40% อย่างไรก็ตามมูลค่าหุ้นของกลุ่มธนาคารในปัจจุบันยังถือว่าถูก โดยมี PB/V ที่ 0.5-0.6 เท่า และราคายังมีโอกาสปรับตัวขึ้น จากทิศทางกระแสเงินทุนไหลเข้าจะเข้ามาหนุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ในระยะต่อไป

สำหรับการปรับมุมมองและมูลค่าของหุ้นกลุ่มธนาคาร จะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังจากกลุ่มธนาคาร ทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4/63 และผลการดำเนินงานปี 63 ตลอดจนรับทราบถึงเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานของแต่ละธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนม.ค.นี้ แต่ในภาพรวมปีนี้ก็ถือเป็นปีที่กลุ่มธนาคารย์จะมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวกลับมาได้ ทำให้ยังมีความน่าสนใจในการลงทุน

โดยหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่แนะนำ “ซื้อ” คือ BBL ซึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับประมาณการราคา จากราคาเป้าหมายเดิมที่ 125 บาท จากการเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจแบบ Conservative เป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองฯระดับสูงในปีที่ผ่านมา ทำให้การตั้งสำรองฯในปี 64 น่าจะผ่อนคลายลง ช่วยหนุนการฟื้นตัวของกำไรในปีนี้ได้ราว 15-17% จากปีก่อนที่คาดว่ากำไรหดตัวลง 40% และสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มาก และยังมีการลงทุนในต่างประเทศ จากการซื้อกิจการพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นบวกแม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเพอร์มาตาจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนผลงานให้กับ BBL ในปีนี้

ส่วนหุ้นธนาคารนาดกลาง-เล็ก ที่แนะนำ “ซื้อ” คือ TISCO ยังอยู่ระหว่างการปรับประมาณการราคาเป้าหมาย จากแนวโน้มของกำไรในปี 64 ที่ฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจนในระดับตัวเลข 2 หลัก จากความผ่อนคลายของการตั้งสำรองฯในปี 64 ที่ลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจาก TISCO มีการตั้งสำรองฯระดับสูงในปีก่อน ทำให้ Coverage ratio ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 100% ปลายๆ อีกทั้งเป็นกลุ่มธนาคารที่มีการกระจายตัวของธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ที่ได้ประโยชน์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และธุรกิจตลาดทุน และการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง 6-7% ซึ่งคาดว่า TISCO จะยังคงจ่ายปันผลในระดับดังกล่าวต่อเนื่องไปถึงปี 65 ทำให้ TISCO เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 64 ยังมีความน่าสนใจอยู่ แม้ว่าในตอนนี้จะมีแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งอาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ได้บ้าง แต่มองว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 ที่ได้รับแรงกดดันของการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบของลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 และในปี 64 คาดว่าแนวโน้มกำไรจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยประเมินว่ากำไรกลุ่มธนาคารจะเติบโต 7% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 1.12 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่กำไรหดตัวลดกว่า 40% หรืออยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท

โดยปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของกำไรจะมาจากแรงกดดันการตั้งสำรองฯของหลายๆ ธนาคารที่ลดลง เพราะในปีก่อนทุกธนาคารได้ตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว ทำให้ Coveragretio ของระบบเพิ่มขึ้นไปที่ 150-160% จากปี 62 ที่ 130-140% ทำให้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นของ NPL หลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดไปในช่วงกลางปีนี้ได้เพียงพอ

ขณะที่การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารในปีนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการวัดประสิทธิภาพของการบริหารหนี้ของแต่ละธนาคาร เพราะหากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ทำได้ไม่ดี จะส่งผลกระทบมาต่อการเพิ่มขึ้น NPL ที่ดีดตัวขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารนั้นๆ เนื่องจากจะต้องมีการบันทึกการตั้งสำรองฯของ NPL เกิดขึ้น หากลูกหนี้ถูกจัดชั้นเป็น NPL ไปแล้ว ซึ่งคาดว่า NPL ในปีนี้ยังเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 4-4.5% จากสิ้นปี 63 ที่คาดว่าอยู่ที่ 3.9% เพราะยังมีโอกาสที่ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้บางรายจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้

นอกจากนี้ยังมองถึงปัจจัยเสี่ยงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ลงมาเหลือ 0.25% หากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ยืดเยื้อเกินเดือนม.ค.นี้ ซึ่งหากกนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น จะกระทบต่อกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือโต 5% เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่ออัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารที่ลดลง ซึ่งรายได้จากดอกเบี้ยนับเป็นรายหลักส่วนใหญ่ของธุรกิจธนาคาร

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่การลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถือว่ายังน่าสนใจ แม้ว่าราคาหุ้นจะดีดตัวขึ้นไปจาก Fund Flow ที่ไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามองในด้านมูลค่าหุ้นยังมีความน่าสนใจ จากระดับ PB/V ที่ต่ำกว่า 1 เท่า เฉลี่ยที่ 0.5-0.7 เท่า และเป็นหุ้นกลุ่มที่การจ่ายปันผลที่ดีในระดับ 4-5% ซึ่งเป็นระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งยังมีโอกาสเห็นอัพไซด์ของราคาในอนาคตหากโควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจน และเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เพราะกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกและลบจากวัฏจักรของเศรษฐกิจ

สำหรับหุ้นที่มีความน่าสนใจในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ มองว่าเป็น BBL ที่แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 130 บาท/หุ้น เพราะเป็นธนาคารที่มองว่าได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของ NPL น้อย เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลุกค้ารายใหญ่ และแรงกดดันจากการตั้งสำรองฯในปีนี้ก็น้อยไปด้วย เพราะจะเห็นได้จากการตั้งสำรองฯสูงของ BBL ในช่วงไตรมาส 2/63 จนทำให้กำไรในไตรมาส 2/63 ลดลงแรง และในปีนี้คาดว่าจะเห็นกำไรเติบโตขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากการตั้งสำรองฯที่ลดลง และยังมีการลงทุนในเพอร์มาตา อินโดนีเซีย ที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่องเข้ามาหนุน ทำให้ผลงานของ BBL ค่อนข้างโดดเด่นในปีนี้

ส่วนธนาคารขนาดกลาง-เล็กที่มองว่าน่าสนใจได้เปลี่ยนจากเดิมที่เคยแนะนำ TISCO มาเป็น KKP เนื่องจากราคาหุ้นของ TISCO ปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก จนเข้าใกล้จุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เกือบ 100 บาทแล้ว แม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะยังอยู่ในระดับที่ดีกว่า 4% แต่อาจจะน้อยกว่า KKP ที่อยู่ในอัตราราว 5.5% และมีราคาหุ้นที่ถูกกว่า ทำให้เปลี่ยนมาแนะนำมา “ซื้อ” KKP ราคาเป้าหมาย 61 บาท/หุ้น ประกอบกับ KKP ยังเป็นหุ้นธนาคารขนาดกลาง-เล็ก ที่การเติบโตของกำไรยังดีในปี 64 และมีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเฉพาะทาง คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่ยังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการตั้งสำรองฯลดลงในปีนี้ อีกทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเสริมรายได้ค่าธรรมเนียมได้อีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top