โบรกฯ เชียร์คงเกณฑ์ฟรีโฟลตระบุเคส DELTA ตัวเดียวกระทบทั้งหมดไม่ได้

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บล.เคทีบีเอสที (KTBST) มองว่าหลักเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float) ของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 15% ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว โดยมองว่าการที่ตั้งระดับนี้ต้องมีเหตุและผลที่เหมาะสมเนื่องจากช่วงเวลานั้นมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยที่ราว 20,000 ล้านบาทต่อวัน แม้ว่าวันนี้มูลค่าการซื้อขายจะขึ้นมาระดับ 1 แสนล้านบาทต่อวัน แต่ก็ต้องดูในช่วงระยะเวลาที่แย่ที่สุดด้วย

สำหรับเกณฑ์ free float หากจะเทียบของประเทศอื่นเห็นว่าทำได้ยาก เนื่องจากบางประเทศก็มีการตั้งไว้มากกว่าบ้าง น้อยกว่าบ้าง หรือบางประเทศก็ไม่มีเลย

“หากเราจะเอากรณีหุ้น DELTA ที่มีความผิดปกติเพียงตัวเดียวมาปรับเกณฑ์ไม่ได้ หากจะปรับให้มี free float มากขึ้นก็มีผลเสียและผลดี หากจะปรับให้ free float ให้น้อยลงก็มีผลดีและผลเสียเหมือนกัน ถึงแม้ว่าการตั้ง free float จะตั้งขึ้นเมื่อสมัยเก่าแต่เชื่อว่าตอนนั้นคิดดีแล้ว เพราะบ้านเราคงไม่โชคดีเทรดกันแสนล้านทุกวัน วันดีคืนดีอาจจะตกไปเหลือ 20,000-30,000 ล้านต่อวันก็ได้ แต่หากจะปรับเกณฑ์จริงๆก็ต้องมาดูเหตุและผลที่เหมาะสมและดูถึงทั้งผลกระทบด้านเสียด้านลบ”

นายวิน กล่าว

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า จากที่จะมีการทบทวนหลักเกณฑ์ free float ของบริษัทจดทะเบียนนั้น หากเป็นหุ้นที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) การกระจายหุ้นที่ 25% ถือว่าเหมาะสมแล้ว แต่ความผันผวนหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดขึ้นกับหุ้นที่เข้าตลาดมานานแล้วจะต้องเข้าไปดูความผิดปกติและสาเหตุที่แท้จริงมากกว่าว่าเกิดจากอะไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด

“จริงๆเราต้องมาดูก่อนว่าความผันผวนมากๆนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งผมก็มองว่าผันผวนเกินไปแบบนี้ไม่ได้ เราต้องกลับมาดูก่อนว่าตรงไหนที่ผิดปกติเราถึงจะแก้ได้ถูก ส่วนตัวมองว่าเกณฑ์ปัจจุบันโอเค ไม่รู้สึกว่า free float น้อยไปนะ”

นายสมภพ กล่าว

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า จากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยากจะให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทบทวนหลักเกณฑ์ free float ของบริษัทจดทะเบียนนั้นมาจากการที่หุ้นบมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) มีความผันผวนค่อนข้างมาก และมีการปรับขึ้นลงของราคาที่ไม่ปกติ ควรจะต้องศึกษาเกณฑ์อย่างละเอียดก่อน เพราะการจะปรับเกณฑ์ต่างๆ ต้องคำนึงถึงหลายๆปัจจัย เนื่องจากบางบริษัทมี free float ตามเกณฑ์ แต่การถือหุ้นโดยกองทุน หรือรายย่อยอาจจะถือในระยะยาวและไม่ขายหุ้นออกมาก็ทำให้สภาพคล่องต่ำอยู่ดี

“เกณฑ์นี้ปรับค่อนข้างยากเพราะบางที free float ก็ไม่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่วางไว้แต่ มีการถือหุ้นจากกองทุน การถือหุ้นจากรายย่อย ที่ไม่ได้มีการขายออกมา ก็เป็นปัจจัยเหมือนกัน ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องพูดคุยกับ ตลท.อีกครั้งถึงรายละเอียด”

นายพิเชษฐ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top