PRINC ความสำเร็จครั้งใหม่ใต้ปีก”วิทยากร”สานฝันเข้า SET100 ดันมาร์เก็ตแคป 2.5-3 หมื่นลบ.

ถนนสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ของตระกูล “วิทยากร” นำโดย นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพที่ขายหุ้นออกทั้งหมดในปี 2555 ก่อนจะหวนคืนวงการปลุกปั้นอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลครั้งใหม่ผ่าน บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) แต่ครั้งนี้เป็นการนำทัพของทายาทคนเล็ก นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร PRINC ที่ล่าสุดกลายเป็น Talk of the town ของวงการตลาดทุน และ วงการ Healthcare ผ่านบิ๊กดีลซื้อหุ้น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เข้าพอร์ตลงทุนในนามส่วนตัว จากกลุ่ม BDMS ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ในราคาหุ้นละ 103 บาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,600 ล้านบาทก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3

“อินโฟเควสท์” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายสาธิต วิทยากร ได้วาดภาพของความฝันในระยะอันใกล้ 2 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2565 อยากเห็นรายได้ PRINC เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวแตะ 5 พันล้านบาท พร้อมกับขยับไซส์มาร์เก็ตแคปขึ้นสู่ 2.5-3 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปี 65 เพื่อปูทางนำบริษัทเข้าคำนวณในดัชนี SET100 ในอนาคต เพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เข้าอยู่ในจอเรดาห์ของผู้ลงทุนไทยและต่างชาติ

เว้น 2 ปีก่อนหวนคืนสังเวียน “Health Care”

ประธานบอร์ดบริหาร PRINC เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภายหลังจากที่ครอบครัวออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงพยาบาลกรุงเทพตั้งแต่ปี 55 ก็มีความตั้งใจว่าจะไม่เข้าไปประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยจุดเริ่มต้นของการเข้ามารุกคืบธุรกิจโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยการเข้าซื้อกิจการ บมจ.เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ (METRO) เมื่อปี 56 เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่สร้างรายได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอเน้นทำเลย่านธุรกิจเป็นหลัก ประกอบด้วยทรัพย์สินหลักสร้างรายได้คือโรงแรมแมริออทในทำเลทองพื้นที่สาทร ต่อจากนั้นก็เริ่มลงทุนโครงการที่มีศักยภาพอื่นๆ เช่น โรงแรม ,อาคารสำนักงานออฟฟิศให้เช่า และที่ดิน เป็นต้น

และเมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 ก็เปลี่ยนชื่อจาก METRO มาเป็น บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) ที่มีทรัพย์สินสำคัญ คือ ธุรกิจอสังหาฯ ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน บางกอก บิสซิเนสเซ็นเตอร์ ย่านเอกมัย เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า ,โรงแรมแมริออทย่านสาทร, โรงแรมซัมเมอร์เซ็ทย่านทองหล่อซอย 2 เป็นต้น

จากนั้นในปี 58 บริษัทเริ่มนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาเสริมในพอร์ต ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ถือหุ้นให้กลับมาดำเนินกิจการโรงพยาบาลอีกครั้ง ส่งผลให้โครงสร้างรายได้ของปี 62 สัดส่วนธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมามากกว่า 50% และปัจจุบันสูงขึ้นมาเป็นมากกว่า 85% มากกว่าสัดส่วนรายได้ธุรกิจอสังหาฯที่เคยสร้างรายได้หลักให้กับบริษัท จึงเป็นที่มาของการย้ายเข้าสู่หมวดเฮลธ์แคร์อย่างเต็มรูปแบบ

“ช่วงแรกที่เข้ามาเทคโอเวอร์ METRO ประกอบธุรกิจอสังหาฯเพราะครอบครัวเรายังไม่อยากทำโรงพยาบาลหลังเพิ่งจะถอนตัวออกมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณพ่อ (พงษ์ศักดิ์ วิทยากร) ที่เป็นอดีตผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพและเป็นประธานบริษัทขอให้มีระยะเวลา 2 ปีที่ไม่ต้องเข้าไปดำเนินกิจการโรงพยาบาล

แต่ปี 2558 เราก็เริ่มนำธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาเสริมในพอร์ตส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ถือหุ้นกลับมาดำเนินกิจการโรงพยาบาลอีกครั้ง ซึ่งก็มีหลายโรงพยาบาลอยากให้เราเข้าไปร่วมทุนเพราะเล็งเห็นถึงความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์งานบริหารโรงพยาบาลในอดีต ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ”

นายสาธิต กล่าว

ความสำเร็จครั้งใหม่แตกต่างกับความสำเร็จในอดีต

นายสาธิต กล่าวต่อว่า การหวนกลับมาประกอบธุรกิจโรงพยาบาลในครั้งนี้มีความแตกต่างกับในอดีต โดยจะมุ่งเน้นการนำความทันสมัยและเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในทุกๆมิติ พร้อมกับใส่หัวใจดวงใหม่ให้กับองค์กรคือต้องเริ่มจากปรัชญาองค์กร ,การบริหารด้วยเทคโนโลยีหรือเป็นรูปแบบ Hospitality Corporation System สร้างความแข็งแกร่งจากส่วนกลาง และจากนั้นก็เริ่มขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเสริมมาในพอร์ตเข้าไปให้บริการในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่ “Blue Ocean” โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีจำนวนค่อนข้างน้อยหากเทียบกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่แต่ละจังหวัด

“สำหรับวันนี้ของ PRINC เราคงไม่ไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอดีต เพราะโรงพยาบาลกรุงเทพกับเป้าหมายของ PRINC มองว่าอยู่คนละ Segment กันเพราะวันนี้เรามุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าระดับกลางเป็นฐานตลาดที่ใหญ่และกว้างและค่ารักษาพยาบาลไม่ได้แพงเป็นราคาลูกค้าระดับกลางจับต้องได้ ความแตกต่างคือต้องควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการให้ละเอียดมากขึ้นซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ของเรา”

นายสาธิต กล่าว

ขยายเครือข่าย Healthcare ในปี 65 กับงบลงทุนกว่า 5 พันลบ.

PRINC วางแผน 3 ปี (2563-2565) ขยายกิจการระยะยาวด้วยงบลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท ประกอบด้วยแผนขยายโรงพยาบาลในเครือข่ายทั้งหมด 20 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งหมด 11 แห่ง นอกจากนั้นยังมีแนวทางขยายเข้าสู่ธุรกิจคลินิกเพิ่มเป็น 100 แห่งกระจายไปในหลายพื้นที่เพื่อเข้าถึงคนในชุมชนแต่ละอำเภอมากขึ้น ขณะเดียวกันมีแผนขยายสถานดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุ โดยร่วมกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว 1 แห่ง

ทั้งนี้ จากแผนขยายกิจการบริษัทวางเป้าหมายรายได้ในปี 65 จะเพิ่มขึ้นไปแตะ 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโต 1 เท่าตัวจากปี 63 แม้จะยอมรับว่าปี 63 รายได้อาจลดลงเล็กน้อยประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 62 เพราะมีการนำโรงพยาบาลใหม่เข้ามาเสริมในพอร์ตและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ส่วนกรณีเข้าซื้อหุ้น BH จากบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จำนวน 180,715,806 หุ้น หรือ 22.71% ที่ราคาหุ้นละ 103 บาท คิดเป็นมูลค่า 18,613.7 ล้านบาทนั้น ดีลนี้เป็นการลงทุนในนามส่วนตัวกับครอบครัว แต่ที่ผ่านมาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้ถือหุ้นของ BH อยู่แล้วและมีการขยายศูนย์รักษาผู้ป่วยด้านต่างๆร่วมกัน ดังนั้นเชื่อว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BH น่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีด้านพันธมิตรทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

“หากมองถึงความโดดเด่นของ BH เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียว แต่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ขณะที่ของเราก็มีโรงพยาบาลและคลินิกที่กระจายในหลายพื้นที่ต่างจังหวัด ในลักษณะโมเดลพันธมิตรทางธุรกิจก็จะน่าช่วยเสริมและต่อยอดกระจายความเชี่ยวชาญของ BH เข้าสู่ฐานลูกค้าในชุมชนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันแผนขยายกิจการในอนาคตเราก็พร้อมเปิดรับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆเพื่อเข้ามาช่วยต่อยอดเสริมศักยภาพสร้างการเติบโตระยะยาวด้วย”

นายสาธิต กล่าว

ปูทางเข้า SET100 วาดฝันมาร์เก็ตแคปขยับสู่ 2.5-3 หมื่นลบ.ในปี 65

แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทในปัจจุบันยังมีผลขาดทุน แต่เกิดจากการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล แต่จากแผนขยายกิจการในปี 65 คาดหวังว่าจะเห็นผลประกอบการกลับมาสร้างกำไรอย่างเป็นรูปธรรมได้ภายในปี 65-66 เนื่องจากโรงพยาบาลในเครือที่มีการลงทุนเข้าสู่จุดคุ้มทุนและสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรได้แล้ว และรวมถึงการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นก็น่าจะมีความชัดเจนปี 65-66 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เป้าหมายในอนาคตบริษัทวางแนวทางอยากเข้าไปคำนวณในดัชนี SET100 พร้อมกับมีแผนเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น (Free float) ผ่านการต่อยอดธุรกิจร่วมกับพันธมิตรรูปแบบต่างๆที่ช่วยเร่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป)อยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่มีความตั้งใจที่อยากจะเห็นไซส์มาร์เก็ตแคปของบริษัทขยับขึ้นไปแตะ 2.5-3 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปี 65

“นักลงทุนที่มาลงทุนกับเราอยากให้ทราบถึงเป้าหมายเราก่อนว่าเราต้องการเป็นหุ้นเติบโต สะท้อนจากแผนขยายเครือข่าย Healthcare ของกลุ่มฯ ซึ่งในปี61 หากบริษัทไม่มีการขยายธุรกิจเพิ่มก็สามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้แล้ว แต่ด้วยแนวทางของบอร์ดบริหารที่ Aggressive มุ่งมั่นเน้นการเจริญเติบโตเพื่ออนาคต ถึงเวลานั้นผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในขนาดของกิจการที่ใหญ่ด้วย”

นายสาธิต กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top