ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 59 ราย ในปท.28-ตรวจเชิงรุก 23-ตปท.8,ตาย 1

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 12,653 คน (+59)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 28 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 23 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 8 ราย
  • รักษาหายแล้ว 9,621 คน (+265)
  • เสียชีวิตสะสม 71 คน (+1)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 59 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 28 ราย ในจ.กรุงเทพมหานคร 10 ราย สมุทรสาคร 7 ราย ราชบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นครพนม 1 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย ระยอง 3 ราย ตาก 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย, จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 23 ราย ในกทม. 3 ราย สมุทรสาคร 20 ราย

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 8 ราย โดยมาจากไอร์แลนด์ ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี

จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 12,653 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,213 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,130 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,310 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 9,621 ราย เพิ่มขึ้น 265 ราย และวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยเป็นเพศหญิง อายุ 48 ปี อาชีพขับรถรับส่งแรงงานเมียนมาใน จ.ตาก เริ่มมีอาการป่วย 16-17 ธ.ค. 63 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ม.ค.64 ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 71 ราย

โดยวันนี้ มีรายงานจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1 จังหวัด คือ นครพนม ส่งผลให้ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศครอบคลุมอยู่ในพื้นที่รวมทั้งหมด 62 จังหวัด

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้เน้นย้ำว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบ ส่วนมากมักจะไม่มีอาการ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ จนกว่าจะได้เข้ารับการตรวจค้นหาและนำเข้าสู่ระบบบริการรักษา เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายใหม่ที่ จ.นครพนม อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจาก กทม. และกลับไปเยี่ยมญาติที่ จ.นครพนม

“หลายครั้งเวลาประกาศผู้ติดเชื้อ จะมีรายงานไทม์ไลน์อย่างละเอียด ถ้าท่านมีแอปหมอชนะจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีว่ามีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือรายงานพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปที่ใดบ้างในจังหวัดของท่าน สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ เมื่อได้รับรายงาน และพบว่าเป็นผู้เสี่ยงต่อการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือไปในพื้นที่เสี่ยงสูงที่มีผู้ติดเชื้อ ต้องรีบไปรายงานที่ รพ.ใกล้บ้าน และรับการตรวจทันที”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้มีความเสี่ยง เพราะไม่ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีประวัติพบผู้ติดเชื้อ จึงทำให้ยังมีการเดินทางใช้ชีวิตตามปกติ และไม่ทันป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นส่วนทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้ โดยเฉพาะการเดินทางไปทำงาน ซึ่งสถานที่ทำงานบางแห่งอาจไม่มีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้น จึงทำให้การติดเชื้อกระจายไปสู่วงที่ 2 และ 3 ได้ง่าย

“เราพบการติดเชื้อในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มนี้ไม่ได้กักตัว ไม่ได้เฝ้าระวัง ไม่มีการป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ก็จะนำเชื้อไปติดพื้นที่ชุมชน โดยที่ไม่รู้ตัว กว่าเราจะรู้ตัวก็พบคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ส่วนสถานการณ์ของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ของ จ.สมุทรสาคร ทั้งใน รพ.และจากการค้นหาในชุมชน วันนี้มีแนวโน้มลดลง แต่ทีมงานจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในชุมชนเพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทั้งจากโรงงาน สถานประกอบการ ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น จึงขอฝากให้ผู้ประกอบการทุกแห่งให้ความร่วมมือกับทีมงานในการตรวจหาเชื้อให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงาน โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเข้ามาจับผิดในเรื่องของแรงงานแต่อย่างใด

“เราเน้นย้ำเสมอว่าไม่ได้ไปจับผิด แต่เราต้องการจะเข้าไปดูแล เพื่อให้โรงงานของท่านปลอดภัย ผู้ที่ยังไม่ติด จะได้มีความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยที่จะมาทำงาน…ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ มักจะมีอาการไม่มากจนไปถึงไม่มีอาการเลย ดังนั้นกลุ่มนี้เราต้องรีบค้นหาให้เจอ แยกเขาออกมา และดูแลให้เหมาะสม ซึ่งการเข้าไปตรวจ ไปค้นหาเชิงรุก เป็นประโยชน์ต่อชาวสมุทรสาครจริงๆ”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี ใน 3 จังหวัดนี้สถานการณ์คงตัว โดยจะเน้นการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และกักตัวทุกรายจนครบ 14 วัน ซึ่งจะมีการคัดกรองเชิงรุกโดยเฉพาะพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ

พญ.อภิสมัย ย้ำว่า วันนี้สถานการณ์การระบาดโดยรวมของประเทศยังอยู่ในระดับคงตัว และยังไม่สามารถทำให้ลงไปอยู่ในระดับศูนย์ได้ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการหลายรายอาจเริ่มท้อแท้ เพราะต่อสู้กับสิ่งนี้มาเป็นปีแล้ว แต่ขอให้อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ

“สิ่งที่ท่านทำได้ดีอยู่แล้ว ขอให้รักษาให้เข้มข้น เข้มงวด การป้องกันตัวเองยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการในระดับองค์กร อยากขอความร่วมมือให้ช่วยแจ้งพนักงานให้ดูแลตัวเอง เช่น ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ไม่รวมกลุ่มกันจำนวนมาก มาตรการจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าแต่ละองค์กรไม่รับไปปฏิบัติ หรือนำไปกระจายต่อให้กับบุคลากรที่ท่านดูแลอยู่” พญ.อภิสมัยกล่าว

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 96,621,459 ราย เสียชีวิต 2,065,624 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 24,806,964 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,596,442 ราย อันดับสาม บราซิล 8,575,742 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,612,800 ราย อันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,466,849 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 128

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top