สัมภาษณ์พิเศษ: CHAYO เปิดใจบิ๊กล็อต “หมอพงศ์ศักดิ์” กับเป้าใหม่โตเท่าตัว

เกาะติดกับกระแสความร้อนแรงหุ้น บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) ภายหลังจากมีประเด็นร้อนจากการที่นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO ทำรายการขายหุ้นบิ๊กล็อตให้กับนายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) กับ นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นักลงทุนรายใหญ่ในจำนวนเท่าๆ กัน คือ 33,500,000 หุ้น คิดเป็น 4.75% ของหุ้นที่ชำระแล้ว ในราคา 7.65 บาท ส่งผลให้นายสุขสันต์ ถือหุ้นเหลือ 42.99% จาก 52.49% และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภายหลังจากที่บริษัทย้ายเข้ามาจดทะเบียนในกระดาน SET เมื่อปลายปี 63 ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น สะท้อนจากความสนใจของบรรดาผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ และบรรดานักวิเคราะห์ของสถาบันใหญ่หลายรายเข้ามาสอบถามข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของบริษัทตามที่เจตนาของผู้ถือหุ้นใหญ่และคณะกรรมการบริษัท

สำหรับดีลขายบิ๊กล็อตแม้ว่าจะทำให้ต้องลดสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ลงเหลือกว่า 42% แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อนโยบายการดำเนินธุรกิจ และในอนาคตหากมีพันธมิตรที่สามารถเข้ามาช่วยต่อยอดสร้างการเติบโตให้บริษัท ก็อาจพิจารณาให้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ใช้วิธีเพิ่มทุนเสนอขายให้ผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (PP) เพราะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่จะต้องโดนลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของ

“ยอมรับว่าคุณสุระเป็นคนเก่ง และคุณหมอพงศ์ศักดิ์ก็เป็นคนเก่ง คือถ้าชี้แนะเรื่องธุรกิจเราก็พร้อมรับฟัง ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างอาจารย์ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา หรือแม้แต่คุณฤทธิรงค์ ท่านก็ให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่ดีกับบริษัท ดังนั้นผมก็มองว่าการขายหุ้นให้กับคุณสุระและคุณหมอพงศ์ศักดิ์ เป็นสิ่งที่ดีช่วยสร้างการเติบโตบริษัทในอนาคต”

นายสุขสันต์ กล่าว

โมเดลธุรกิจที่จะมาต่อยอดร่วมกับนายสุระ ในฐานะผู้บริหาร COM7 และ NCAP นั้น เบื้องต้นคงต้องมาดูรายละเอียดว่าธุรกิจของคุณสุระ มีการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใดบ้างซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปช่วยติดตามหนี้ รวมถึงเติมเต็มในส่วนของใบอนุญาตด้านธุรกิจไฟแนนซ์ทั้งของ COM7 และ NCAP เพื่อให้สามารถบรรลุสู่เป้าหมายการเติบโตร่วมกันในระยะยาว คาดว่าจะเริ่มพิจารณาโมเดลธุรกิจร่วมกันเพื่อหาความชัดเจนอีกครั้งช่วงปลายไตรมาส 1/64

ส่วนแผนการเติบโตปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมจะเติบโต 25% มาจากการเติบโตในทุกธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ ,ธุรกิจสินเชื่อ ,และธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 4-5 หมื่นล้านบาท และอีก 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเดินหน้าธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญคือการขยายธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติม ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ บริษัท ชโย เจวี จำกัด ล่าสุดอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 55% และที่เหลืออีก 45% เป็นกลุ่มผู้ลงทุนทั่วไป โดยแบ่งเป็นเงินลงทุนที่ใช้จัดตั้งบริษัทคาดมีทุนจดทะเบียนประมาณ 200 ล้านบาท และมีเงินลงทุนเพิ่มเติมนำไปใช้ขยายธุรกิจซื้อหนี้เข้ามาบริหารประมาณกว่า 1 พันล้านบาท

ด้านแผนระยะยาว 3 ปี (64-66) ข้างหน้าหากบริษัทเติบโตเฉลี่ย 25-30% ต่อปีก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตเป็น 100% หรือเติบโตเป็นเท่าตัว

“ธุรกิจซื้อหนี้ในบริษัท ชโย เจวี เราจะเน้นซื้อหนี้ที่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร ซึ่งหากดำเนินการ ชโย เจวี เสร็จสมบูรณ์แล้วจากเดิมที่ CHAYO จะเติบโต 25% ก็จะสร้างการเติบโตให้กับ CHOYO ได้มากกว่าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ”

นายสุขสันต์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top