EA ตั้งเป้าปี 64 รายได้โต 20% จากธุรกิจรถอีวีหนุน จ่อผลิตรถเมล์ไฟฟ้า

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโตราว 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังจากที่โรงงานแบตเตอรี่ระยะแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/64 ช่วยขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจ จากการนำแบตเตอรี่มาใช้ในการผลิตทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีคำสั่งซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถที่เกี่ยวการขนส่งสาธารณะที่จะเข้ามาในมือประมาณ 400-500 คัน ซึ่งบางส่วนมีการเซ็นสัญญาไปแล้วและบางส่วนอย่ระหว่างรอเซ็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/64 ต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

พร้อมกันนั้น ยังสนใจจะผลิตรถเมล์ไฟฟ้าป้อนให้กับผู้ที่เข้าร่วมประมูลรถเมล์ไฟฟ้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2,500 คันด้วย ส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ต้องชะลอแผนออกไปบ้าง หลังจากที่กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถหารายได้จากการให้บริการผู้โดยสารได้

ส่วนเรือไฟฟ้าจะส่งมอบให้ครบ 27 ลำภายในปลายเดือน มี.ค.64 ตามเป้าหมาย หลังจากที่ได้เปิดทดลองให้บริการแล้ว 3 ลำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ 14 ก.พ.64 หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร ซึ่งบริษัทก็จะมีรายได้ส่วนนี้เข้ามาด้วย

“ภาพรวมรายได้เราน่าจะโตประมาณ 20% ตัวที่ผลักดันสำคัญมาจากธุรกิจอีวี เมื่อโรงงานแบตเตอรี่เสร็จ ทุกอย่างเสร็จใน Q1 ก็เริ่มผลิตส่งมอบ เราก็รับรู้รายได้ ปีนี้เป็นปีที่เราเก็บเกี่ยวหลังจากบ่มเพาะมานาน ผลผลิตเริ่มออกมาแล้ว…วันนี้เราโฟกัสเรือไฟฟ้า เราเป็นผู้ให้บริการ ผู้เดินเรือ รายได้จากธุรกิจนี้เป็นตั๋วค่าเรือ เราโฟกัสในรถ public transport ที่ตลาดมีศักยภาพ พวกรถบัส รถขนส่ง มีกระแสตอบรับค่อนข้างดี ภายในไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 น่าจะมีสินค้าเริ่มส่งให้ลูกค้าเป็นหลักร้อยคัน”

นายอมร กล่าว

นายอมร คาดว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทในปีนี้จะปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า 60% ก็จะเหลือ 50% , ธุรกิจไบโอดีเซล (B100) จากดิม 40-45% ก็จะเหลือ 30-35% และที่เหลือ 10-20% มาจากธุรกิจอีวี

การเติบโตของธุรกิจอีวี ทำให้บริษัทยังคงเดินหน้าที่จะลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้ตามแผน 1 พันแห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 400 แห่ง แต่รูปแบบเดิมที่เป็นการชาร์จปกติที่จะใช้เวลานาน (normal charge) ก็จะเปลี่ยนเป็นการชาร์จที่รองรับในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะการชาร์จในระบบขนส่งมวลชนจะต้องใช้เวลารวดเร็ว

ส่วนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ให้เต็มกำลังที่ 50 GWh นั้น ยังต้องรอดูนโยบายของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้รถอีวีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีความชัดเจนมากขึ้นก็จะมองโอกาสการขยายต่อไป แต่หากตลาดเติบโตช้าการขยายก็อาจจะขยายไม่มากนัก ขณะกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GWh จะใช้รองรับสำหรับการผลิตธุรกิจของบริษัทเท่านั้น

สำหรับธุรกิจไฟฟ้านั้น ปัจจุบันบริษัทเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ (MW) แล้ว ซึ่งการจะเติบโตมากกว่านี้จะต้องมองหาโครงการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การลงทุนของบริษัท ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) คงไม่สูงเหมือนในอดีต โดยปัจจุบันมองเพียงระดับ 8-10% ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่มาก ซึ่งโครงการในประเทศก็จะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการในต่างประเทศ ขนาดต้องมากกว่า 100 เมกวัตต์ ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้ปิดกั้นในส่วนของการซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้าประมูลในโครงการใหม่ ๆ ในประเทศ แต่ต้องดูเงื่อนไขที่ตอบโจทย์การลงทุนด้วย

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว 2 โครงการที่ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับพันธมิตรนั้น คาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาศึกษา 2-3 ปี หลังจากนั้นต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และใช้เวลาสร้างเขื่อนนับ 7 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้

“ธุรกิจโรงไฟฟ้าเดี๋ยวนี้ไม่ได้เซ็กซี่เหมือนอดีต รีเทิร์นไม่สูงมาก ทุกคนรับรู้แล้ว ทั้งในส่วนของเงินลงทุน ความผันผวนไม่เยอะ รีเทิร์นตลาดให้ 8-10% ถ้าในประเทศได้มา 20-30 เมกะวัตต์ ก็ไม่ได้กระทบกำไรเลย เพราะฐานเราใหญ่แล้วปีละ 6 พันล้านบาท กำไรเพิ่มปีนึง 100 ล้านบาทไม่มีผลกระทบต่อ Bottom line แต่ตัวที่เป็นอนาคตเป็นอีวีเป็นหลัก ถามว่าทิ้งไหม ธุรกิจเดิมเราไม่ทิ้ง แต่ต้องคัดเลือกอย่างระมัดระวัง”

นายอมร กล่าว

นายอมร กล่าวอีกว่า ด้านธุรกิจไบโอดีเซล ก็ไม่ได้มองการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม เพราะตลาดคงไม่ได้เติบโตมาก และกำลังการผลิตในประเทศยังคงสูงกว่าความต้องการใช้ ประกอบกับไม่ใช่ธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง ดังนั้น ธุรกิจนี้ก็จะมองการต่อยอดไปยังธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงอย่าง Bio Green Diesel ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ และ BioPCM ที่เป็นสารควบคุมความแตกต่างของอุณหภูมิซึ่งจะช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงาน อย่างกรณีใช้เป็นส่วนผสมในซีเมนต์สร้างกำแพง หรือใช้ในกระบวนการผลิตเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อผ้า เป็นต้น

สำหรับแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 2.2-2.3 พันไร่ ในจ.ฉะเชิงเทรานั้น ยังอยู่ในกระบวนการดำเนินการงาน ที่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์อีกรอบ และยังต้องรอการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 65 โดยนิคมฯจะเน้นรองรับอุตสาหกรรมไฮเทค อย่างไรก็ตามในส่วนโรงงานแบตเตอรี่ และโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในพื้นที่นิคมฯ เพราะต้องการให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก่อน เพราะหากรอการจัดตั้งนิคมฯก็อาจจะทำให้มีความล่าช้า

นายอมร กล่าวด้วยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำประมาณการเงินลงทุนสำหรับปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทั้งในส่วนของโรงงานแบตเตอรี่ และโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินในปีนี้เกือบ 4 พันล้านบาท ส่วนเงินลงทุนหลักจะเป็นเงินลงทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตามหากมีการทำ M&A บริษัทก็มีศักยภาพที่จะจัดหาเงินลงทุนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เกือบ 2 เท่า และมีกระแสเงินสดในมือไม่ต่ำกว่า 4-5 พันล้านบาท

ขณะที่มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยคงค้างประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยกว่า 3% ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายราว 1.5-1.6 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ แต่บริษัทก็มองโอกาสการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ ในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ และหลายโครงการก็เปิดดำเนินการแล้วและมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยการรีไฟแนนซ์อาจเป็นการเจรจากับเจ้าหนี้รายเดิมเพื่อลดดอกเบี้ย หรือการออกหุ้นกู้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top