ไทยมีผู้ติดโควิดใหม่ 959 ราย พบจากตรวจเชิงรุก 848 ในประเทศ 89

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 14,646 คน (+959)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 89 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 848 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 22 ราย
  • รักษาหายแล้ว 10,892 คน (+230)
  • เสียชีวิตสะสม 75 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 959 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 89 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 848 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 22 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 14,646 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,718 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 5,532 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,396 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 10,892 ราย เพิ่มขึ้น 230 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 75 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาสรุปมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมต่างๆ จากการนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะได้มีการพิจารณารายละเอียดกันอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สถานบันเทิง ตลอดจนสถานศึกษา เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 29 ม.ค.ต่อไป

สำหรับสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่ 15 ธ.ค.63 – 25 ม.ค.64 ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 8,935 ราย โดยผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 20-29 ปีมากสุด ที่ 1,813 ราย คิดเป็น 58% รองลงมา คือ กลุ่มอายุระหว่าง 40-59 ปี ที่ 1,650 ราย คิดเป็น 29% ซึ่งสองกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน และส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ จึงไม่รู้ตัวว่าป่วย ทำให้มีการเดินทางไปยังหลายสถานที่ และส่งผลให้มีการระบาดในกลุ่มวัยนี้มากที่สุด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยรายที่อายุน้อยสุด อยู่ที่ 3 เดือน และมากสุดที่ 95 ปี ขณะที่การระบาดในเพศชายต่อเพศหญิง มีอัตราส่วนใกล้เคียงกันที่ 1:1.36 ขณะที่มีบุคลาการทางการแพทย์หรือทำงานในสถานพยาบาล ติดเชื้อโควิดแล้ว 25 ราย

“โรคนี้ จะอยู่กับกลุ่มคนที่มีการเดินทาง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนเยอะ วัยของการเที่ยว ดื่ม สังสรรค์ หรือวัยทำงาน ยังเจอเยอะ ซึ่งเชื้อโรคจะอยู่กับกลุ่มนี้ แต่โชคดีที่กลุ่มนี้แข็งแรง จึงไม่แสดงอาการ แต่พอไม่มีอาการ ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และเดินทางไปหลายที่ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น จะพบว่าในเขตที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสะสมมากที่สุด อยู่ที่เขตบางขุนเทียน 130 ราย, รองลงมา คือ เขตบางแค และเขตจอมทอง เท่ากันที่ 29 ราย, เขตบางพลัด 28 ราย, เขตบางบอน 27 ราย และเขตภาษีเจริญ 22 ราย ขณะที่มีเพียง 2 เขตในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดเลย คือ เขตสะพานสูง และเขตสัมพันธวงศ์

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 100,280,252 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,149,387 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 25,861,597 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,677,710 ราย อันดับสาม บราซิล 8,872,964 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,738,690 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,669,658 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 123

“วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ทำสถิติทั้งทั่วโลกและประเทศไทย โดยภาพรวมทั่วโลกนั้น มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วแตะระดับ 100 ล้านรายแล้ว ที่ 100,208,252 ราย ขณะที่ประเทศไทย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเฉพาะรอบใหม่ (15 ธ.ค.63 – 26 ม.ค.64) แตะระดับหมื่นคนแล้ว ที่ 10,409 ราย”

ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำการรวบรวมสถิติข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิดที่เริ่มตั้งแต่เจอผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศจีนเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.62 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมแล้วราว 100 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ หายป่วยแล้ว 71.8 ล้านราย, ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 26.1 ล้านราย และเสียชีวิต 2.1 ล้านราย

โดยทวีปอเมริกาเหนือ พบผู้ป่วยสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 29.43% รองลงมาซึ่งใกล้เคียงกัน คือ ทวีปยุโรป 29.10% ตามด้วยทวีปเอเชีย 22.64% ทวีปอเมริกา-แคริเบียน 15.32% ทวีปแอฟริกา 3.46% และโอเชียเนีย 0.05%

นอกจากนี้ ยังพบว่าการแพร่ระบาดในระยะหลัง เริ่มกระจายตัวได้อย่างรวดเร็วมากกว่าในช่วงต้นที่มีการระบาด ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่า ช่วงการระบาดใน 1 ล้านรายแรก ใช้เวลา 92 วัน การระบาดใน 10 ล้านแรก ใช้เวลา 177 วัน การระบาดใน 50 ล้านรายแรก ใช้เวลา 311 วัน ในขณะที่การระบาดใน 50 ล้านรายที่สอง กลับลดลงเหลือเพียง 80 วัน ซึ่งในช่วงหลังๆ จะเห็นว่ายอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ล้านคน จะใช้เวลาเพียง 16 วันเท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top