SCGP คาดรายได้ปีนี้โต 2 Digit ทะลุแสนลบ.จากดีลควบรวมกิจการ-ขยายกำลังผลิต

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ปี 64 เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก (2 digit) ทะลุระดับ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 9.28 หมื่นล้านบาทในปี 63 นับเป็นการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง เป็นผลจากดีลการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งดีล Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษในเวียดนาม ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.63 และดีล Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักรที่แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.64 รวมถึงยังเป็นการเติบโตตามแผนการขยายกำลังการผลิตตามปกติของบริษัทด้วย

“ปีนี้เรามี SOVI และ Go-Pak เข้ามา คร่าว ๆ 2 ดีก็จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ต้นปี สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 พันล้าบาท นอกเหนือจากนั้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโตได้ตามตลาด การขยายลงทุนใหญ่บ้างเล็กบ้าง และ organic growth ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็ทำให้รายได้เติบโตเกินแสนล้านบาท โตเป็น Double Digit และยังมีตัวที่จะมาเพิ่มอีก คือโอกาสทางธุรกิจการควบรวมกิจการที่จะมากขึ้นอย่างที่เราตั้งงบลงทุนไว้ในปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท”

นายวิชาญ กล่าว

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 63 ของ SCGP มีรายได้จากการขาย 9.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น รายได้จากสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร 85% และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ 15% โดยรายได้ทั้งหมดราว 52% มาจากในประเทศ ส่วนที่เหลือ 48% มาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน ขณะที่ปี 63 มีกำไรสุทธิ 6.46 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า

นายวิชาญ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในปี 63 มาจากการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การบริหารต้นทุน วัตถุดิบ และซัพพลายเชนที่มีการปรับพอร์ตการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การขยายฐานธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) และการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership : M&P) เพื่อขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนจุดแข็งและสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) กับ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging (Thailand) Limited

ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดในบางประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) สินค้าอุปโภคบริโภค การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของบริษัทในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

สำหรับในปี 64 บริษัทตั้งงบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงดีลควบรวมกิจการและการขยายลงทุนตามแผน ซึ่งยังเน้นในภูมิภาคอาเซียน โดยจะลงทุนขยายธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โครงการขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และโครงการขยายบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ในประเทศไทยจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ได้วางแผนบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รองรับภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเพื่อสุขภาพ จะยังคงขยายตัวในปีนี้ และในระยะยาวคาดว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะได้รับปัจจัยบวกจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียน

ส่วนสายธุรกิจเยื่อและกระดาษของบริษัทในปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษ ,กระดาษพิมพ์เขียนลดลงอย่างมากจากมาตรการควบคุมโรคระบาด โดยการปิดสถานศึกษาและนโยบายรณรงค์ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) ดังนั้น บริษัทจึงได้วางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปสู่บรรจุภัณฑ์อาหาร

ทั้งนี้ การลงทุนใน Go-Pak ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มประเภทนำกลับและพร้อมรับประทานในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ก็จะเป็นการขยายฐานลูกค้า การขยายความสามารถในการผลิตและจัดจำหน่าย รวมถึงการขายเยื่อกระดาษไปยังลูกค้ากลุ่มกระดาษชำระมากขึ้น ท่ามกลางความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นสถานการณ์โรคระบาด และการปรับโครงสร้างต้นทุนของกลุ่มธุรกิจ ก็จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสายธุรกิจนี้ให้ดีขึ้นด้วย

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ของ SCGP กล่าวว่า บริษัทนับว่ามีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง โดยหลังจากมีการระดมทุนผ่านการนำเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือเกือบ 3.3 หมื่นล้านบาท และมีภาระหนี้อยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 0.6 เท่า บ่งชี้ถึงศักยภาพในการขยายธุรกิจในอนาคต

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 5.5 พันล้านบาท อายุ 3 ปี 8 เดือน เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงกลางปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถออกหุ้นกู้ได้ในช่วง 2 เดือนจากนี้

สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทมากนัก เพราะการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติ (natural hedge) โดยเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อกำไรของบริษัทราว 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในแต่ละปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top