สรท.คาดส่งออกปีนี้ดีขึ้นหลังมีวัคซีน แต่ห่วงบาทแข็ง-ตู้สินค้าขาดแคลน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยภาวะการส่งออกของไทยในปี 63 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหดตัวลดลงมาที่ -6.01% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวมากถึง -10% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว และแนวโน้มน่าจะดีขึ้นหลังจากสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้งานได้แล้วช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย โดยการส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับการส่งออกเดือน ธ.ค.63 มีมูลค่า 20,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.71% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.62% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 582,100 ล้านบาท ขยายตัว 3.85% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้เกินดุลการค้า 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) อยากให้การส่งออกเติบโตได้มากๆ จะได้ช่วยให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มการจ้างงาน ทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน เพราะตอนนี้การท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัว…ถ้าส่งออกโตได้ถึง 6% จะช่วยให้จีดีพีเติบโต 2.7%” น.ส.กัณญภัค กล่าว

ปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 64 คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1) การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ดังจะเห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

2) ปัญหา International Logistics

2.1 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ จากการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ทำให้มีปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ประกอบกับจีนได้เร่งส่งออกสินค้าหรือที่เรียกว่า Front-load shipment ก่อนที่จะปิดยาวในช่วงตรุษจีน ทำให้ยังคงมีปัญหาขาดแคลนระวางเรือ

2.2 อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อัตราค่าระวางเรือที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังแต่ละเส้นทาง ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในเส้นทางยุโรป เดือนธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160-220% ขณะที่เส้นทางภายในเอเชียเพิ่มขึ้น 17-100% ส่วนเส้นทางออสเตรเลีย ปรับเพิ่มขึ้น 112-197% และเส้นทางสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้น 73-196% ซึ่งจากผลของการปรับขึ้นค่าระวางเรือในหลายเส้นทางโดยเฉพาะ EU ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถยอมรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า 2.3 ค่าระวางขนส่งทางอากาศยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในเส้นทาง EU US Japan เป็นต้น

3) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว (QE) และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ระดับการแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแข่งขันด้านราคาในการส่งออก

4) ประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ และจีน เน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มการออกนโยบายที่ส่งเสริมให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Onshore/Re-shore) อาทิ การประกาศใช้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ของประเทศจีน ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (2021-2025) และนโยบาย Buy American นโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เน้นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯ

5) ความล่าช้าในการเจรจา FTA อาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนาม ในตลาดสหภาพยุโรป ที่ได้มีการยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างกันแล้วกว่า 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด กระทบการขยายตัวภาคส่งออกต่อ GDP ของไทยในภาพรวม

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย

  • มาตรการเร่งด่วน

1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

2)เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน

2.1)เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์

2.2) ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย

2.3) ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น

2.4) อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวรเพื่อให้นำเข้าตู้เปล่ามากขึ้น

2.5) ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น

  • มาตรการระยะยาว

1) สถานการณ์โควิดรอบใหม่

– รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิตและยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

– เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์สอดรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับทางราชการ เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่รับบริการ (Social distancing)

– ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal

2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์

3) เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ เร่งบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ใน Pipeline อาทิ Thai-UK / Thai-EU / EFTA / Pakistan / Turkey เป็นต้น

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกในปี 63 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกขยายตัวเป็นบวกแค่ 4 เดือนเท่านั้น คือ เดือน ม.ค.ที่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด-19, เดือน มี.ค.-เม.ย.ที่มีแรงซื้อจากตลาดต่างประเทศเพื่อสต็อกสินค้าก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์ประเทศ และเดือน ธ.ค.ที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

โดยสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกได้ดีนอกเหนือจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการทำงานที่บ้านแล้วก็เป็นสินค้าจำพวกอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง และถุงมือยางที่นำไปใช้ทางการแพทย์ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ยังน่ากังวลคือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่ายัต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และการจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมายังไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่คุ้นเคย แต่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นท่าทีของนานาชาติที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top