“พาวเวล” ยันเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นตลาดแรงงานสหรัฐฟื้นตัว

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในระหว่างการสุนทรพจน์ในงานเสวนาของสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์กเมื่อวานนี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เฟดจะต้องรักษาจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยความอดทน เพื่อกระตุ้นตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด

“แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวเมื่อไม่นานมานี้ แต่ตลาดแรงงานของเรายังคงอยู่ห่างไกลจากคำว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานของประเทศอื่นๆ ที่เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับเรา ตัวเลขจ้างงานในเดือนม.ค.ปีนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าในเดือนก.พ.ปีที่แล้วเกือบ 10 ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือว่าต่ำกว่าในช่วงหลังเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง (Great Recession)”

นายพาวเวลกล่าว

ทั้งนี้ นายพาวเวลย้ำว่า ในระยะใกล้นี้ นโยบายต่างๆ ที่จะช่วยให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงโดยเร็วนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐ เพื่อที่จะนำตลาดแรงงานกลับสู่ภาวะแข็งแกร่งอีกครั้ง

ขณะเดียวกันนายพาวเวลได้ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยกล่าวว่า “ที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงอย่างมาก และเพิ่งจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา” พร้อมกับย้ำว่า ในการรับมือกับความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานนั้น เฟดจะไม่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสหรัฐร่วมมือกันในการนำตลาดแรงงานกลับสู่ภาวะที่มีการจ้างงานที่เต็มศักยภาพอีกครั้ง

“เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชาชนที่สูญเสียตำแหน่งงาน และมีแนวโน้มที่ประชาชนบางส่วนจะประสบกับความยากลำบากในการหางานทำหลังช่วงการแพร่ระบาดนั้น การบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน”

นายพาวเวลกล่าว

นายพาวเวลย้ำว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งย้ำว่าเฟดต้องการเห็นตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์มูลค่า 1.20 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top