GUNKUL เซ็นสัญญาติดตั้งโซลาร์รูฟ CJ ทุกสาขา ลุยขยายกำลังผลิตไฟฟ้าใน-ตปท.

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทร่วมลงนามในสัญญาโครงการซื้อขายพลังงาน หรือ PPA (Power Purchase Agreement) จากระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับทางบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด (CJ) ทั้งสาขาที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และสาขาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของร้าน CI Supermarket และ CJ MORE รวมถึงอาคารพาณิชย์ทั้งหมด

ทั้งนี้สัญญา PPA โดยขอบเขตงาน คือ GUNKUL เป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด ตั้งแต่งออกแบบ อุปกรณ์ ดำเนินการก่อสร้าง และดูแลระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 18 เมกะวัตต์ (MW) หรือเฉลี่ย 32 กิโลวัตต์ (Kw) ต่อสาขา เพื่อขายไฟให้กับทาง CJ ในอัตราส่วนลดค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลาสัญญา 15 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จไปแล้ว 5 สาขา และคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งให้ครบ 500 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ โดยภายในไตรมาส 3/64 น่าจะครอบคลุม 300 สาขาได้ จากมีพื้นที่พร้อมติดตั้งแล้ว

ขณะที่เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าทาง CJ จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 24 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 300 ล้านบาทตลอดระยะเวลาสัญญาโดยทาง GUNKUL มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ทุกโครงการให้เร็วที่สุด หรือภายในปี 65 อย่างไรก็ตามบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาในปีนี้ราว 70-80 ล้านบาท

ปัจจุบันทาง GUNKUL ได้ดูแลโครงการ PPA จากระบบ Solar Rooftop มาแล้วกว่า 53 โครงการขนาดติดตั้งรวมทั้งหมดประมาณ 35 เมกะวัตต์โดยคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่สามารถประหยัดให้กับลูกค้าได้ต่อปีประมาน 142 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านบาท ตลอดระยะสัญญา 15 ปี ซึ่งโครงการ เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะขยายธุรกิจ ด้านพลังงานทดแทน หรือต่อยอดพลังงานสะอาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

นางสาวโศภชา กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโต 15% ตามการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 200 เมกะวัตต์ (MW) เข้ามาเต็มปี แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม รวม 160 เมกะวัตต์ , โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศมาเลเซีย และโครงการโซลาร์รูฟท็อป

บริษัทยังวางเป้าหมายภายในปี 64-66 จะมีกำลังการผลิตแตะ 1,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 300-400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากการลงทุนซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโซลาร์ กำลังผลิตติดตั้ง 30-50 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันก็มีการเจรจากับพันธมิตรอยู่หลายราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในครึ่งปีแรกนี้ 1 ราย ประกอบกับยังมองการลงทุนในส่วนของ PPA ภาคเอกชน คาดว่าน่าจะมีเข้ามาในพอร์ต 30-50 เมกะวัตต์ต่อปี

สำหรับธุรกิจ EPC ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญารับงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงานดังกล่าวราว 25-30% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้งานในมือปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 9,000 ล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 1/64 ขณะที่ปีนี้ก็คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากงานในมือราว 3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ใน 3 ปี

ส่วนความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าดำเนินการ บริษัทฯ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน เนื่องจากปัจจุบัน TOR ยังไม่ชัดเจน และน่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษานาน ซึ่ง GUNKUL ยังคงมองการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตของเมกะวัตต์

อนึ่ง กองทัพบก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพของกองทัพบกในภูมิภาคต่างๆ ราว 3 แสนไร่ ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ลงทุนเฟสแรก 300 เมกะวัตต์

นางสาวโสภชา เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยจะใช้ในธุรกิจพลังงาน 50% และที่เหลือเป็นธุรกิจ EPC, PPA และการเข้าซื้อกิจการ M&A

ด้านผลการดำเนินงานในปี 63 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ 15-20% และมีกำไรสุทธิเติบโต ซึ่งถือเป็นการทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (นิวไฮ) จากการบันทึกกำไรจากขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงไตรมาส 4/63 มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแจ้งงบปี 63 หลังการประชุมคณะกรรมการบริษัทในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.พ.64 หรือประมาณวันที่ 25 ก.พ.64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top