สัมภาษณ์พิเศษ: NER สานเป้าปี 67 เข้า SET100 ถอดโมเดลกำไรนิวไฮทุกปี-หุ้นดีติดพอร์ต “เซียนฮง”

กลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ถูกพูดถึงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 64 สำหรับ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ภายหลังปรากฎชื่อนักลงทุนรายใหญ่คนดังพอร์ตลงทุนระดับหมื่นล้านบาทอย่าง “เซียนฮง” หรือ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ ฉายาเซียนหุ้นอัจฉริยะ โผล่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จากการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.64 โดยถือครองหุ้นรวมกว่า 64 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.99% เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นชำระแล้วทั้งหมด

ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการของ NER นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 พบว่ารายได้และกำไรสุทธิแต่ละปีเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้รวม 10,084 ล้านบาท, 13,107 ล้านบาท และ 16,364 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 486 ล้านบาท, 538 ล้านบาท และ 858 ล้านบาท ตามลำดับ สอดรับกับราคาหุ้น NER เป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดราคาหุ้น NER ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.64 ที่ระดับ 5.50 บาท

และภาพในระยะยาวหุ้น NER จะยังมีความน่าสนใจในเชิงปัจจัยพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน และขณะที่มุมมองของ “เซียนฮง” ต่อหุ้น NER ที่วันนี้ยังคงเป็นความลับว่ามองเห็นมูลค่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในหุ้นของ NER บ้าง ??

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ”อินโฟเควสท์” โดยยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกับ”เซียนฮง”ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 เป็นการส่วนตัว แต่ก่อนหน้านี้มีผู้ลงทุนจำนวนมากทั้งรายบุคคลและสถาบันเข้ามาขอข้อมูลกับบริษัท ก็ต้องขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกคนที่เชื่อมั่นในบริษัท และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น

“โดยมุมมองส่วนตัวคิดว่าการที่มีนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เข้ามาสนใจหุ้น NER เพราะว่าข้อดีของธุรกิจ NER มองเห็นการเติบโตได้ชัดเจน ด้วยโมเดลธุรกิจมีโอกาสขาดทุนยากมาก มีแค่กำไรน้อยหรือกำไรมากเท่านั้น เนื่องจากทราบราคาซื้อและราคาขาย ซึ่งที่ผ่านมาอัตรากำไรที่บริษัททำได้ไม่เคยต่ำกว่า 4% เป็นตัวแปรสำคัญที่ผู้ลงทุนเชื่อมั่นเรื่องการเติบโตในอนาคต”นายชูวิทย์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ NER ด้วยกลยุทธ์การขยายธุรกิจด้านต่างๆ บริษัทตั้งเป้าว่าหุ้น NER ภายในปี 67 จะเข้าคำนวณในดัชนี SET100 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ 1.5-2 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นเป็นเท่าตัวจาก Market Cap ปัจจุบันที่ประมาณ 8.2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และครอบครัว”จึงธนสมบูรณ์”ยืนยันว่าจะยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนล่าสุดที่ 57% แม้ก่อนหน้านี้แบ่งขายให้กับกองทุนญี่ปุ่น Daiwa (ไดวา) ไปบ้าง ทำให้ลดลงจากช่วงแรกที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ถือใน 61% แต่ก็เป็นการแบ่งขายหุ้นออกมาเพียงครั้งเดียว และในอนาคตหากจะมีการขายหุ้นอีกก็ต้องเป็นความจำเป็นในการนำพา NER ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาวเท่านั้น

“หากบริษัทมีมูลค่า Market Cap ประมาณ 12,000 ล้านบาทเราเชื่อว่าก็สามารถเข้าไปอยู่ใน SET100 ได้แล้ว แต่เข้าเราจะเข้าไปอยู่แถวล่างโอกาสที่จะถูกเตะออกมาอีกมี ดังนั้นจึงวางเป้าหมายว่าหากจะเข้า SET100 มูลค่า Market Cap ของเราต้องอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรืออาจจะต้องถึง 20,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ เรามั่นใจว่าทำได้ภายในปี 67 จากแผนงานต่างๆที่เราวางไว้”นายชูวิทย์ กล่าว

 
ถอดรหัส NER โชว์กำไรโตทุบสถิติสูงสุดทุกปี

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 ผลประกอบการของบริษัทเติบโตทุบสถิติใหม่ทุกปี เริ่มต้นจากการได้รับเงินระดมทุนราว 1,500 ล้านบาทมาสร้างโรงงานแห่งใหม่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้ 170,000 ตัน/ปีก่อนจะก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไตรมาส 3/63 ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 460,000 ตัน จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 290,000 ตัน ส่งผลให้ยอดขายปรับตัวสูงขึ้นตามตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การเติบโตเห็นชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 4/63 จาก 2 ปัจจัยหนุนหลัก คือ ไตรมาส 1/63 มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ระยะแรกมีความกังวลว่าราคายางจะตกต่ำจากความต้องการลดลง แต่จากความต้องการถุงมือยางจำนวนมากทำให้ผลผลิตยางธรรมชาติถูกนำไปใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ทิศทางราคายางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บริษัทสามารถต่อรองราคาให้ได้ส่วนต่างกำไรสูงกว่าภาวะปกติ

ประกอบกับ เป็นช่วงที่บริษัทได้กำลังการผลิตใหม่เข้ามา จึงได้ปรับปริมาณการขายสินค้าเพิ่มเป็น 100,000 ตัน/ไตรมาส จากเดิมที่มีปริมาณการขายอยู่ราว 60,000 ตัน/ไตรมาส

“นับว่า 2 แรงบวกที่เกิดขึ้นทำให้ผลประกอบการเราทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากการถูกดึง Supply ไปจากถุงมือยาง รวมไปถึงแรงงานกรีดยางในภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาหายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกลับมาได้ทำให้ Supply ยางบางส่วนหายไปจากแรงงานกรีดยางด้วย”นายชูวิทย์ กล่าว

 
เล็งปรับเป้าปี 64 ขึ้นอีก 5-10% ท้าทายทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากผลประกอบการไตรมาส 1/64 ออกมาแล้วบริษัทเตรียมทบทวนเป้าหมายรายได้ปี 64 ซึ่งอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-10% จากเดิมคาดว่าจะมีรายได้ราว 22,000 ล้านบาท ตามปริมาณการขายยางพาราที่ 410,000 ตัน เนื่องจากขณะนี้ราคาขายยางพารายังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ย.63 สะท้อนจากความต้องการยางพาราในตลาดโลกมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าวัคซีนไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“รัฐบาลจีนมีแคมเปญรถเก่าแลกรถใหม่ เราขายของเฉพาะช่วงที่แคมเปญออกมาจนถึงปัจจุบัน ขายของเพิ่มไปอีกราว 20,000 ตัน ขณะที่ความต้องการยางในส่วนของถุงมือยางก็ยังมากอยู่ เพราะฉะนั้นราคายางก็ยังคงมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ในสถานการณ์แบบนี้การบวกมาร์จิ้นทำได้ดี และมองว่าสถานการณ์แบบนี้จะยาวไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 3/64 แน่นอน เพราะตอนนี้เราขายล่วงหน้าไปถึงไตรมาส 3/64 แล้ว”นายชูวิทย์ กล่าว

สำหรับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมองว่าด้วยกำลังการผลิตใหม่เข้ามาทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทเกิดโมเดลประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากในปี 64 ส่วนโครงสร้างการจำหน่ายสินค้าแบ่งเป็นในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40%

นอกเหนือจากบริษัทขยายตลาดต่างประเทศเน้นไปที่ญี่ปุ่นและจีน ยังมีแผนขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดอินเดียเพิ่มเติม เล็งเห็นถึงโอกาสเติบโตในอนาคตจากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคนเท่ากับจีน และมีอัตราการบริโภครถยนต์เกือบใกล้เคียงกับจีนเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทสามารถเข้าไปเปิดตลาดในอินเดีย

 
ทุ่มงบ 70 ลบ.เพิ่มกำลังผลิตเป็น 5.1 แสนตัน/ปี บุกสินค้าสำเร็จรูปอัพมาร์จิ้น

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมสั่งเตาอบยางพาราเข้ามาอีก 1 ชุดในช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ราว 50,000 ตันต่อปี ด้วยงบลงทุนราว 70 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 65 กำลังการผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 510,000 ตัน และจะทำให้ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเป็น 480,000 ตัน ซึ่งจะมีรายได้ราว 30,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทมีแผนจะใช้งบลงทุนราว 100-200 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอย่างแผ่นปูนอนวัวและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปประเภทอื่นๆ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 65 เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนผลักดันภาพรวมผลประกอบการบริษัทจะเติบโตทุบสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องอย่างน้อยไปถึงปี 66

หากมองโอกาสของการขยายตลาดแผ่นปูนอนวัวพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศเยอรมนี ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียยังมีศักยภาพเติบโตอีกมากเพราะประเทศอินเดียมีจำนวนแม่วัวมากที่สุดในโลก รองลงมา คือ จีน ,ญี่ปุ่น,ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ และด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย ทำให้เชื่อว่าหากบริษัทสามารถขยายตลาดได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจะยกดับให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นปูนอนวัวรายใหญ่ในภุมิภาคเอเชียได้ไม่ยาก

ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลางมีอัตรากำไรสุทธิ 4-7% แต่หากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอย่างแผ่นปูนอนวัวและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปประเภทอื่นๆ ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 15-25% เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในอนาคตบริษัทมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมากขึ้น

ทั้งนี้ การปรับโมเดลหันมารุกขยายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้นมองว่าปัจจุบันธุรกิจเดิมมีมาร์จิ้นที่ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบเกิดขึ้น เป็นผลกระทบต่อต้นทุนการรับซื้อวัตถุดิบของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทปรับโมเดลเพิ่มสัดส่วนยอดขายของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมากขึ้น เป็นส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันรวมถึงสร้างความมั่นคงด้านการเติบโตของผลกำไรได้ในระยะยาว

นายชูวิทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารยังมีแนวคิดจะเข้าไปศึกษาธุรกิจกัญชงเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ภายหลังจากรัฐบาลปลดล็อกขอใบอนุญาตดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้นยังไม่มีข้อสรุปขัดเจนว่าจะเข้าไปดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร

 

เพิ่มทุน PP 10% ดึงบิ๊กพันธมิตรต่างชาติ ไม่กังวลราคา Dilute

สำหรับแผนการเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่คู่ค้าของบริษัทเพื่อเป็นให้การจำหน่ายสินค้ามีประสิทธิภาพมากและความยั่งยืนมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการเจรจากับคู่ค้าจากญี่ปุ่นและจีน 2-3 ราย แต่การเจรจาทางโทรศัพท์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้จึงจะต้องรอให้มีการเปิดประเทศและพบปะกันเพื่อที่จะตกลงข้อเสนอต่างๆ โดยมองว่าสัดส่วนหุ้น PP ที่ 10% เป็นการเพิ่มโอกาสการเดินทางหรือการเติบโตในอนาคตในตลาดโลก

“ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับผู้ค้ายางพารารายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งมีวอลุ่มการซื้อขายมากกว่าที่โรงงานของบริษัทผลิตได้ทั้งโรงงาน หากได้พันธมิตรรูปแบบนี้เข้ามาจะช่วยให้บริษัทมีความมั่นคงในกาขายสินค้ามากขึ้นไปถึงยังลูกค้าปลายทาง ข้อดีของ NER คือขายสินค้าแบบตรงไปตรงมา ไม่มีการเบี้ยวสัญญา เรามาจากบริษัทเล็กๆ รักษาคำพูดมาตลอด เพราะฉะนั้นเราถึงเติบโตขึ้นมาได้ ลูกค้าที่เราคุยอยู่นี้ก็ค้าขายกับเรามา 7-10 ปีแล้ว เขาถึงยอมจะเข้ามา PP กับเรา หากสามารถเดินทางไปคุยได้มั่นใจว่าภายใน 1 เดือนจะสามารถจบดีลได้แน่นอน”นายชูวิทย์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top