LPN ปรับกลยุทธ์สู่ธุรกิจบริการ-เช่าดันรายได้ปี 67 ทำนิวไฮแตะ 2 หมื่นลบ.

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์แผน 3 ปีในการพลิกฟื้นธุรกิจ โดยเฉพาะการผลักดันรายได้ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 2 หมื่นล้านบาทภายในปี 67 จากเดิมในอดีตเคยทำสถิติรายได้สูงสุดไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท

บริษัทจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้มีการกระจายรายได้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจจากที่เคยเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเป็นหลักแล้วต้องเผชิญความท้าทายเข้ามามาก ทั้งการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การดำเนินกลยุทธ์ของบริษัทพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมาก

สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะหันไปเน้นการขยายฐานรายได้ธุรกิจบริการให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% ภายในปี 64 และเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 65 จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 15% ด้วยการเดินหน้าเชิงรุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั้ง บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) และบริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) ขยายการให้บริการไปนอกกลุ่ม LPN ทั้งงานบริหารจัดการชุมชน งานเกี่ยวข้องกับระบบวิศวกรรม และงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่บริษัทตั้งใจผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของรายได้ประจำที่มาจากการให้เช่านั้น จะยังคงมีการขยายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทจะมีรายได้จากอาคารสำนักงานให้เช่าย่านถนนพระราม 4 เพิ่มเข้ามาในพอร์ตอีก 1 แห่งในปี 65 ซึ่งเป็นโครงการ่วมทุนกับพันธมิตร ประกอบกับ บริษัทยังมีรายได้จากการนำห้องที่เหลือขายในโครงการคอนโดมิเนียมมาปล่อยเช่า ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการที่พหลโยธิน 34 และรังสิต คลอง 1 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เข้ามาเสริม และคาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจให้เช่าจะเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 67

ด้านธุรกิจหลักของบริษัท คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย จะมีการปรับให้พอร์ตสินค้าและสัดส่วนรายได้จากคอนโดมิเนียมและแนวราบให้มีความสมดุลกันมากขึ้นที่ 50:50 จากปัจจุบันอยู่ที่ 70:30 ซึ่งแนวทางการพัฒนาโครงการของบริษัทยังคงเน้นโครงการที่เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เชื่อว่าเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการซื้ออยู่มาก และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่จริง ประกอบกับมีปริมาณซัพลายในตลาดไม่มาก ต่างจากกลุ่มระดับราคาที่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไปที่มีการแข่งขันสูง

นายโอภาส กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ผู้ประกอบการต่างหันมาพัฒนาโครงการระดับ 3 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น ทำให้ซัพพลายคอนโดมิเนียมในตลาดเกิดขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมาก และกระทบต่อภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมในตอนนี้ที่ยังมีซัพพลายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการแข่งขันด้านราคาและการทำโปรโมชั่นรุนแรง ประกอบกับกลุ่มผู้ซื้อในระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุน และลูกค้าต่างชาติ ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปเป็นตลาดที่ยังค่อนข้างน่ากังวลอยู่

สำหรับปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 7 พันล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน โดยยังคงเน้นไปที่การระบายสต็อกคอนโดมิเนียมเหลือขายออกไปเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้มีรายได้เข้ามาได้อย่างรวดเร็วภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ โดยปัจจุบันบริษัทมีสต็อกมูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ 9 พันล้านบาท และคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 6 พันล้านบาท

ขณะที่คาดว่าจะมีการโอนคอนโดมิเนียมจากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาในปีนี้อีกทั้งหมด 2.2 พันล้านบาท ประกอบกับการขายโครงการแนวราบที่สามารถรับรู้รายได้เข้ามาได้รวดเร็ว เป็นปัจจัยที่เข้ามาสร้างรายได้ในปี 64

ด้านยอดขายในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำยอดขายไปได้ 6 พันล้านบาท โดยบริษัทวางแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 8.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 3 โครงการ มูลค่า 3 พันล้านบาท แนวราบทั่วไป 4 โครงการ มูลค่า 2.5 พันล้านบาท และแนวราบระดับบนอีก 2 โครงการ มูลค่า 3 พันล้านบาท

บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 64 ที่ 4 พันล้านบาทเพื่อใช้ซื้อที่ดินนำมาพัฒนาโครงการแนวราบทั้งหมด โดยบริษัทได้ชะลอแผนการซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อรองรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมออกไปก่อน เนื่องจากยังมีที่ดินจากปีก่อน 6-8 แปลงสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่สร้างเสร็จพร้อมขายรองรับกับการเติบโตของธุรกิจได้ต่อเนื่องถึงปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อที่ดินใหม่เข้ามาเพิ่ม ทั้งนี้ เพื่อรักษากระแสเงินสดให้สามารถรองรับกับแผนการลงทุนในด้านอื่นๆ หรือรองรับกับความเสี่ยงกับปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

“ปี 64 จะเป็นปีที่ LPN สามารถดำเนินตามแผนกลยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่ผ่านมา 2-3 ปี เราวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรมา ก็ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบ ปีนี้ถือว่าจะเป็นปีที่เรากลับมาตั้งหลักในการผลักดันธุรกิจให้ Turn around และกลับมาเป็น TOP5 ของอุตสาหกรรมในหลายๆด้านภายในปี 67 ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้ได้”นายโอภาส กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top