ASIAN คาดปี 64 รายได้โต 8-10% รักษาอัตรากำไรขึ้นต้นสูง 14-15%

นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจปี 64 เบื้องต้นบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายและบริหารหลักจะเติบโตได้ราว 8-10% จากปีก่อน จากการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์น้ำเป็นสำคัญ และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ระหว่าง 14-15%

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าปีนี้ยังคงเป็นปีแห่งความไม่แน่นอน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังคงไม่คลี่คลาย บริษัทฯคาดว่าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเกือบตลอดทั้งปีเมื่อเทียบกับปี 63 อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการทำฟาร์มกุ้งในประเทศ ยังคาดว่าจะเติบโตได้ราว 15% ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์น้ำภายในประเทศ ตลอดจนปริมาณและราคาวัตถุดิบกุ้ง ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตต่อ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา

ด้านแผนการลงทุนในปี 64 บริษัทคาดว่าจะใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า 300 ล้านบาท งบลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต 70 ล้านบาท และงบลงทุนในการขยายระบบ ERP รองรับทุกธุรกิจ 30 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในงวดปี 63 มีกำไรสุทธิ 818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 685 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 515% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายรวมอยู่ที่ 8,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เทียบกับปีก่อนหน้ารายได้รวมอยู่ที่ 8,194 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารสัตว์น้ำ

ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 741 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 652 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 16% ซึ่งทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริมดำเนินกิจการ เทียบกับปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 8% เนื่องจากยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงสูง และมีอัตรากำไรที่แข็งแกร่งขึ้นมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น

ด้านไตรมาส 4/63 มีกำไรสุทธิ 211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,141.18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ที่มีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายรวม 2,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 14% โดยยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 60% โดดเด่นสุดในกลุ่ม

ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายรวมในปี 63 แบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงราว 39% อยู่ที่ 3,454 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 38% รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งอยู่ที่ 3,023 ล้านบาท ลดลงราว 22% กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำอยู่ที่ 1,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% กลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยราว 1%

“ผลประกอบการปี 63 ออกมาเป็นที่น่าประทับใจ จากการเติบโตก้าวสำคัญของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และอัตรากำไรที่ปรับสูงขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก จากความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ จากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการเติบโตของยอดขายมาจากทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้ารายใหม่ในญี่ปุ่นและยุโรปที่เริ่มทำธุรกิจกันระหว่างปี ผลิตภัณฑ์กลุ่มที่มีการเติบโตสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงบรรจุถุงเพาช์ เนื่องจากใช้สะดวกและอยู่ในกระแสความนิยม ทำให้บริษัทต้องเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา และพร้อมจะขยายกำลังการผลิตอีกในปี 64 เพื่อให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้”

นายเอกกมล กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top