รมว.คมนาคม เร่งรัดโครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนอง หวังดันเป็น Oil Bridge

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ว่าการประชุมในวันนี้ เป็นการเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

  • 1) โครงการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการ
  • 2) การพัฒนามอเตอร์เวย์เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการ
  • 3) การพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการ

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินโครงการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) นั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมในการขนส่งทางทะเลของโลก เห็นว่าพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศไทย มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทั้งจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค สำหรับการเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก และยังมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการ ซึ่งสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งหลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา จึงมีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

จากในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา เป็นเส้นทางหลัก โดยจากสถิติการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2559 พบว่าปริมาณน้ามันดิบที่ผลิตจากพื้นที่เอเชียตะวันออกกลาง ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ประมาณ 19.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่านทางช่องแคบมะละกา ประมาณ 16.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อขนส่งไปยังประเทศ แถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่มีการนำเข้ามากกว่า 80% ในขณะที่การขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ประมาณ 24.7 ล้านตู้ต่อปี คิดเป็น 4.3% ของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั่วโลก ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ท่าเรือสิงคโปร์กลายเป็นท่าเรือที่มีคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และเป็นท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากข้อได้เปรียบดังกล่าว กระทรวงคมนาคม โดย สนข. จึงได้กำหนดบทบาทของโครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ให้เป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ หรือ Oil Bridge โดยขนส่งน้ำมันทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อขนส่งทางเรือไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการเป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเป็นท่าเรือสำหรับการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริม Land Bridge และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือ โดยพิจารณาทั้งพื้นที่โครงการฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย โดยการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง นั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ และทางรถไฟตามกรอบการดำเนินการโครงการ MR-MAP เชื่อมต่อท่าเรือสองฝั่งทะเลต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top