“เยลเลน” เผยสหรัฐจ่อขึ้นภาษีนิติบุคคล หาเงินใช้จ่ายโครงการลงทุนระยะยาว

ภาพ: รอยเตอร์

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคืนนี้ว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอด้านภาษีเพื่อที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายในโครงการลงทุนระยะยาวซึ่งจะมีขึ้นในไม่ช้านี้

“ดิฉันคิดว่าการลงทุนในประชาชน ประกอบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสร้างงานในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีจะช่วยให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายในโครงการเหล่านี้”

นางเยลเลนกล่าว

รัฐมนตรีคลังสหรัฐยังกล่าวด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งมีชื่อว่า ‘American Rescue Plan’ นั้นไม่ได้ใช้เงินทุนจากภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นโครงการลงทุนในระยะยาวซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

นางเยลเลนกล่าวว่า “วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง และเราสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดได้แล้ว ปธน.ไบเดนก็อาจจะเสนอแผนการเพื่อจะที่แก้ปัญหาการขาดแคลนการลงทุนในระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจของเรา การลงทุนในโครงการพื้นฐาน, การลงทุนในประชาชน, การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลิต จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐมีศักยภาพด้านการผลิตที่สูงขึ้น”

ทั้งนี้ นางเยลเลนกล่าวว่า หนึ่งในข้อเสนอด้านภาษีที่ปธน.ไบเดนจะพิจารณานั้นคือ การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 28% โดยในปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำสุดในบรรดากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในระหว่างการแถลงครั้งนี้ ส.ส.พรรครีพับลิกันบางคนซึ่งรวมถึงนางแอน แวกเนอร์ ส.ส.จากรัฐมิสซูรีได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษี โดยตั้งคำถามว่า “เราต่างก็รู้ว่าการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจขนาดเล็ก, สถานศึกษา และภาคครัวเรือนของอเมริกัน ปรับตัวขึ้นด้วย เพราะเหตุใดประเทศนี้ต้องเริ่มเปิดเศรษฐกิจด้วยการปรับขึ้นภาษี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนอเมริกันในท้ายที่สุด และจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กอีกหลายล้านรายต้องเผชิญกับความยากลำบาก”

นางเยลเลนได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ผ่านการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว และพบว่า ยังไม่มีความชัดเจนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อราคาและต่อผู้บริโภค

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top