ก.ล.ต.เริ่ม sandbox ขายหุ้นกู้เอกชนผ่านระบบดิจิทัลปลายมี.ค.ก่อนขยายไป Bond ปี 65

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้เริ่มเดินหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของตลาดทุนไทยมาอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาตลาดทุนที่จะยกระดับให้เป็นตลาดทุนดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และมีการนำระบบดิจิทัลเชื่อมโยงการทำธุรกรรมต่างๆของตลาดทุนทั้งในกลุ่มภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมี.ค. 64 ก.ล.ต.จะเริ่มการทำ Sandbox เฟสแรกในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับหุ้นกู้เอกชน โดยนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการออกและการเสนอขายหุ้นกู้เอกชน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมใน Sandbox แล้ว 36 ราย ทั้งโบรกเกอร์ อันเดอร์ไรท์เตอร์ และบริษัทเอกชนที่สนใจออกหุ้นกู้ผ่านระบบดิจิทัล โดยมีบริษัทเอกชนเตรียมออกหุ้นกู้ใน Sandbox ราว 19 ราย

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.เตรียมจะขยายการพัฒนาระบบดิจิทัลไปยังการออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาครัฐและหน่วยงานภาครัฐในปี 65 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นเฟสที่ 2 เพื่อทำให้ระบบการพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สามารถเชื่อมโยงกันได้ครบทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นการนำระบบดิจิทัลของตลาดทุนไปใช้กับภาครัฐจะนำไปใช้กับพันธบัตรของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ที่จะเข้ามาอยู่ใน Sandbox เฟส 2

และในเฟสต่อๆไปก.ล.ต.ได้วางแผนพัฒนาระบบดิจิทัลของตลาดทุนไทยไปใช้ต่อกับแพลตฟอร์มและผลิตภัณฑ์อี่น ได้แก่ ตลาดหุ้น กองทุนรวม และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น

“ระบบ Digital Infrastructure จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในตลาดทุนให้อยู่บนระบบที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนกระบวนการในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) เพื่อช่วยลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ สร้างความสะดวกและลดต้นทุนในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน รวมทั้งกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”

นางสาวรื่นวดี กล่าว

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ของตลาดทุนไทยที่ ก.ล.ต. ริเริ่มขึ้นนั้นเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 60-64) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นระบบนิเวศทางการเงินผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง โดยในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (end-to-end process) นั้นจำเป็นต้องพัฒนา 3P คือ Process Product และ Payment ให้สอดรับกัน

“โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนี้ นอกจากจะช่วยให้ตลาดทุนไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โครงการนี้ยังถือเป็น Milestone ของตลาดทุนไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ถัดจากสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ที่สามารถพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital platform) ที่ให้บริการครบวงจรครอบคลุมตราสารทุกประเภท อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ จึงขอให้ผู้ร่วมพัฒนาโครงการนี้ และ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการสร้างสภาวะ Cyber Resilience ให้แก่ตลาดทุน รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection)”

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังให้นโยบาย ก.ล.ต. ในการพัฒนาระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุน (Financial inclusion) ที่เท่าเทียมกันของประชาชนและธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ให้เป็นกรณีตัวอย่างของประเทศไทยเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMM) ในเดือนเมษายน 2564 และการประชุมเอเปค (APEC) ปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ด้าน ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่ทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นทดแทน (technology disruption) มีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งการนำพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับตลาดทุนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

การพัฒนาระบบ Digital Infrastructure จะเริ่มที่ตราสารหนี้ภาคเอกชน และจะเชื่อมต่อระบบไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับตราสารหนี้ภาครัฐต่อไป ซึ่ง ก.ล.ต. จะควบคุมดูแลการพัฒนาและทดสอบระบบทั้งหมดก่อนเริ่มใช้งานจริงภายใต้โครงการ Sandbox ที่มีการจำกัดความเสี่ยงและยืดหยุ่นในเรื่องของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้ว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าระบบจะพร้อมสำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นแรกได้ภายในไตรมาส 4/64

ในอนาคต ระบบ Digital Infrastructure จะมีการพัฒนาให้รองรับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุน เช่น การออกหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่มีกระดาษและลงนามด้วยลายมือชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic signature) การลดระยะเวลาที่หลักทรัพย์จะพร้อมในการซื้อขายในตลาดรองจากเดิมที่ต้องใช้ 7 – 14 วัน ให้เหลือเพียง 1 – 2 วัน และการลดระยะเวลาส่งมอบและชำระราคาหลักทรัพย์จากเดิมอยู่ที่ T + 2 วัน ให้เป็นแบบ real-time (T + 0 วัน)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top