สำนักวิจัยเห็นพ้อง H1/64 บาทอ่อนหลังศก.สหรัฐฟื้น ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าใน H2/64

ธนาคารพาณิชย์มองเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฉายแววสดใส ขณะที่ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเริ่มลดลง แต่ครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง เมื่อผลตอบแทนการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ดีงดูดใจน้อยลง จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น พร้อมคาด กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ไว้ตลอดทั้งปีนี้

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่า ในระยะไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ปีนี้ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.25-31.50 บาท/ดอลลาร์ โดยแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใสกว่าแห่งอื่นในระยะนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่เร่งตัว ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศหลักในสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และมาตรการปิดเมืองรอบใหม่

แต่แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง เงินบาทอาจมีโอกาสกลับมาแข็งค่า บนสมมติฐานแรงส่งเชิงบวกของเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อจากหลากหลายมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ จะทำให้อัตราผลตอบแทนจากการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ที่หักเงินเฟ้อแล้วมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง

เบื้องต้นประเมินว่า ณ สิ้นปี 2564 เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่ราว 29.75-30.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม เป็นเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด ซึ่งจะมีผลต่อจังหวะเวลาในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ มีปัจจัยเรื่องทองคำ พฤติกรรมของผู้ค้าทองในไทยบ่งชี้ว่าเมื่อราคาทองคำในตลาดโลกลดลง ไทยจะนำเข้าทองคำ ซึ่งมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า และในทางกลับกันหากราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ผู้ค้าทองในไทยจะมีการขายออก ซึ่งมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่า

น.ส.รุ่ง ยังกล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยว่า คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอด 12 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย และเร่งใช้เครื่องมือกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติด้านสาธารณสุข ซึ่งกำลังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมมองว่านโยบายการคลัง ควรมุ่งเน้นการเยียวยากลุ่มเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มองว่า ค่าเงินบาทยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน โดยปัจจุบัน เงินบาทปรับอ่อนค่าไปมากว่า 31.00 บาท/ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับในปี 63 ที่เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ และเช้าวันนี้ (26 มี.ค.) เงินบาดเปิดตลาดที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน

โดยทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่านี้ มองว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เพราะจากการที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศทางฝั่งตะวันดกเติบโตได้ดีกว่า รวมทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง จึงทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงไปได้

แต่อย่างไรก็ดี จากการที่สภาพคล่องในตลาดโลกยังมีอยู่ในระดับสูง จึงทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยยังถือว่าเป็น safe haven ดังนั้น ทิศทางที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปได้ไม่มากกว่านี้แล้ว โดยประเมินว่าตลอดทั้งปี 64 เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-31.00 บาท/ดอลลาร์

นายพชรพจน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินเป็นหลัก คือ fund flow เนื่องจากมองว่าขณะนี้ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวรุนแรง เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังทรงตัวอยู่ในระดับ 0.50% และคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับเดิมไปจนถึงปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของไทยก็ไม่ได้สูง ประกอบกับการดำเนินนโยบายทางการคลังนั้น รัฐบาลยังมีความชัดเจนในการรักษาวินัยการเงินการคลังด้วยการบริหารหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี

ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากสหรัฐฯ กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ หลังจากอัดฉีดเงินเข้ามาเต็มที่ นำไปสู่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bondyield) สูงขึ้น มีผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะตามมา ทำให้คนกังวลและมีเงินไหลกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และนำมาซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ดี คาดว่าไตรมาสที่ 2 เงินบาทจะไม่อ่อนค่าแรงเหมือนในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งเงินบาทจะอ่อนค่าได้บ้างแต่จะชะลอตัวลง และเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก

ทั้งนี้ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่า ไตรมาส 2/64 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.75 บาท/ดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 3/64 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.90 บาท/ดอลลาร์ และไตรมาส 4/64 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.30 บาท/ดอลลาร์

สำหรับด้านนโยบายการเงินนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%ตลอดทั้งปี โดยมองว่า ธปท.น่าจะเลือกใช้นโยบายการเงินอื่น นอกจากดอกเบี้ยในการอัดฉีดเงินช่วยเหลือกลุ่ม SME มาตรการอื่นๆ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ขณะที่นโยบายการเงินจะเป็นกองหลังรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top