สัมภาษณ์พิเศษ: RBF ผ่าอนาคตหุ้น 5 เด้งใน 1 ปีครึ่ง สู่อัพไซด์รอบใหญ่บนเส้นทางสายกัญชง

กลายเป็นหุ้นเติบโต “Growth Stock” ในสายตาของผู้ลงทุนเป็นที่เรียบร้อยสำหรับหุ้น บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่เป็นส่วนผสมอาหาร (food ingredients) ที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมรายใหญ่ของเมืองไทย สะท้อนจากราคาหุ้น RBF ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แค่ 1 ปีครึ่งเท่านั้น (24 ต.ค.62) จากมูลค่าหุ้น IPO ที่ 3.30 บาทต่อหุ้น ไต่ระดับทะยานขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดใหม่แถว 19.40 บาทเมื่อวันที่ 19 มี.ค.64 นับเป็นการสร้างผลตอบแทนส่วนต่างกำไรให้กับผู้ลงทุนมากกว่า 5 เด้งหรือมากกว่า 500% !!

เหตุผลหลักที่นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของราคาหุ้น RBF ในรอบนี้ นั่นคือ ผลประกอบการปี 63 โดยเฉพาะกำไรสุทธิที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจากศักยภาพธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงจนทำให้กำไรกลับมาทุบสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในปี 64

นอกจากนั้น อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญการปลดล็อกอุตสาหกรรมกัญชงเชิงพาณิชย์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นตัวแปรด้านบวกต่อโอกาสของ RBF ที่จะต่อยอดเข้าสู่ผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำด้วยโรงสกัดสารกัญชงเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งต่อให้กับผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำ จึงมีโอกาสใหม่ที่จะเก็บเกี่ยวรายได้และผลกำไรหากผลิตภัณฑ์ผสมสารสกัดกัญชงได้รับความนิยมสูงในอนาคต

RBF พร้อมเดินหน้าขอใบอนุญาตโรงสกัดกัญชง

นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทสนใจเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกัญชงกัญชา เพราะมองว่าจะสร้างอัพไซด์ให้กับผลประกอบการในอนาคต ล่าสุดบริษัทอยู่ในขั้นตอนยื่นขอใบอนุญาตโรงสกัดสารสำคัญที่มีคุณประโยชน์จากพืชกัญชงกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมด้านโรงสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรอยู่แล้ว จึงต้องการนำกัญชงกัญชาเข้ามาต่อยอดเพิ่มไลน์การผลิตได้ทันที เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเป็นรายแรก ๆ

ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าหลายรายเข้ามาเจรจาในเบื้องต้น โดยต้องการให้บริษัทคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์การนำสารสกัดจากกัญชงกัญชามาผลิตเป็นสินค้าเพื่อนำออกวางตลาด โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำที่บริษัทให้บริการมายาวนาน ทั้งการผลิต อาหารเสริม, อาหาร, เครื่องดื่ม และ เครื่องสำอาง เป็นต้น

“แผนการขยายการลงทุนในธุรกิจกัญชงนั้นในช่วงแรกๆ คงต้องพิจารณาจากปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้าและความต้องการผู้บริโภคในท้องตลาดเป็นหลัก แต่ด้วยความพร้อมในทุกๆ มิติ หาก RBF มีโอกาสได้รับใบอนุญาตโรงสกัดสารกัญชงเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นำสู่ลูกค้าตอบโจทย์ของผู้บริโภค เชื่อว่าจะมีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตสินค้าให้ลูกค้าในเฟสแรก บริษัทไม่ต้องเข้าลงทุนสร้างโรงงานและระบบใหม่ ดังนั้นจะเป็นส่วนเพิ่มอัพไซด์ให้กับผลประกอบการปีนี้เติบโตมากกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระหว่างนี้ต้องรอกระบวนการของรัฐบาล และขั้นตอนการอนุมัติของ อย.แต่ละขั้นตอนให้มีความชัดเจนก่อน”

นายสุรนาถ กล่าว

มั่นใจวัตถุดิบป้อนไม่ขาดหลังส่งบริษัทลูกร่วมมือเกษตรกรลุยปลูกกัญชง

นายสุรนาถ กล่าวว่า นอกเหนือจากที่บริษัทมีเจตจำนงเข้าไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ขั้นกลางน้ำอย่างโรงสกัดสารกัญชงแล้ว บริษัทยังสนใจเข้าไปพัฒนาขั้นต้นน้ำ คือ การเพาะปลูกกัญชงด้วย ซึ่งเป็นโมเดลในลักษณะการต่อยอดธุรกิจด้านการเกษตรของบริษัทย่อยคือ บริษัท พรีเมี่ยม ฟู้ดส์ ที่มีฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และมีพื้นฐานการพัฒนาด้านการเกษตรมานานกว่า 20 ปีแล้ว มีสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรจำนวนมากในรูปแบบ Contract Farming เพื่อซัพพลายวัตถุดิบให้กับบริษัท นับเป็นข้อได้เปรียบสนับสนุนซัพพลายวัตถุดิบกัญชงให้สามารถนำมาแปรรูปขยายสู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

“เครือข่ายเกษตรกรของบริษัท มีความรู้และศักยภาพเพียงพอการเป็นเกษตรกรต้นแบบได้ และที่ผ่านมาบริษัทเจรจากับที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเพาะปลูกที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในการพัฒนาการปลูก ซึ่งความตั้งใจของเราคืออยากให้รายได้ถึงมือเกษตรกรโดยตรง บริษัทรับซื้อวัตถุดิบ ไม่ได้เป็นลักษณะการจ้างแรงงาน หรือมีนายหน้าเข้าไปซื้อ เพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง”

นายสุรนาถ กล่าว

เปิดใจดีลขายโรงแรม 2 แห่งกำเงินสดอาจต่อยอดกัญชงเฟสสอง

ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย.นี้ เพื่ออนุมัติการขายโรงแรมในเครือ 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโนโวเทล ชุมพร และ โรงแรมไอบิส เชียงใหม่ มูลค่ารวม 272 ล้านบาท หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารรถปิดดีลได้ภายในไตรมาส 2/64

นายสุรนาถ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องขายโรงแรม เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แม้ว่าจะมีบางกระแสจะมองว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มจะกลับมาบ้างแล้ว แต่ในมุมมองเชื่อว่ากว่าที่การท่องเที่ยวจะกลับมาอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าจะฟื้นมาเหมือนกับอดีต ขณะที่ธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมาเป็นตัวแปรที่กดดันศักยภาพทำกำไรของบริษัท ดังนั้น จึงเห็นว่าการมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักและตัดภาระขาดทุนของธุรกิจโรงแรมออกไปทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ เพื่อช่วยผลักดันผลประกอบการ โดยเฉพาะอัตรากำไรให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

“การตัดสินใจขายโรงแรม แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าบริษัทมีกระแสเงินสดเยอะแล้ว แต่การนำกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัทเพิ่มขึ้นเราก็นำมาใช้ขยายธุรกิจตามโครงการใหม่ๆที่เตรียมไว้รองรับอยู่แล้วเพื่อช่วยสร้างอัพไซด์ให้กับผลประกอบการ เช่น การลงทุนในธุรกิจผลิตภัณฑ์กัญชงในเฟสสองก็จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอีกพอสมควรเหมือนกัน”

นายสุรนาถ กล่าว

มั่นใจผลงานปี 64 ทุบสถิติสูงสุดใหม่ต่อจากปี 63

นายสุรนาถ กล่าวต่อว่า แม้ว่าช่วงปี 63 การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลก แต่ผลประกอบการของ RBF ยังเติบโตทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากคำสั่งซื้อกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจวัตถุแต่งรสและกลิ่น (Flavour) ที่รับประโยชน์จากยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ดูแลสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน และกลุ่มเกล็ดขนมปัง แป้งและซอส (Food Coating) ที่มีการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและกระแส “ฟู้ด เดลิเวอรี่” เป็นส่วนผลักดันยอดขายกลุ่มสินค้า Food Coating อีกด้วย

และแนวโน้มภาพรวมผลประกอบการปี 64 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าปี 63 วางเป้าหมายรายได้คาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-12% ยังไม่นับรวมกับโครงการใหม่ๆที่จะเข้ามาสนับสนุนอัพไซด์ อาทิ การขยายเข้าสู่ธุรกิจกัญชง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่คลี่คลาย ทำให้การบริโภคไม่ได้กลับเติบโตเหมือนภาวะปกติ แต่ในโซนตลาดหลักในต่างประเทศพบว่ายังสามารถเติบโตต่อเนื่อง เช่น เวียดนาม ,อินโดนีเซีย ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ แม้ว่าจะเป็นฐานที่มียอดขายไม่สูงนักแต่มั่นใจว่าจะเติบโตได้ดี ส่วนโซนที่ยอดขายลดลง คือ รัสเซีย ญี่ปุ่น และ ตะวันออกกลาง คาดว่าจะเห็นการกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นอีกครั้งในระยะต่อไป

ส่วนสัญญาณตลาดในประเทศ ยังเห็นการฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย สะท้อนจากทิศทางยอดขายของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่หลายรายที่มีการจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นหากตัวเลขการส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง ก็จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการเติบโตของรายได้บริษัท

ลุ้นรายได้ 4-5 พันลบ.มาเร็วกว่าเป้า 5 ปี ลุยเทรนด์ใหม่ “คีโต-Plant Based Food”

สำหรับเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทมีเป้ารายได้จะขึ้นไปแตะ 4-5 พันล้านบาทเป็นลักษณะการเติบโตธุรกิจรูปแบบปกติ ไม่นับรวมกับโครงการอื่นๆ ที่ช่วยสร้างอัพไซด์ให้ผลประกอบการในระหว่างทาง ดังนั้นหากมองตามกลยุทธ์การขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ มีความเป็นไปได้สูงที่ภาพของรายได้รวมมีโอกาสขึ้นไปแตะ 4-5 พันล้านบาทเร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน

ส่วนแผนขยายธุรกิจระยะสั้น นอกเหนือจากมุ่งเข้าสู่ธุรกิจกัญชงแล้ว บริษัทมีแนวทางลงทุนเพิ่มเติมอีกวงเงิน 200-250 ล้านบาท เป็นการขยายโรงงาน Food Coating เฟส 2 ประเทศอินโดนีเซีย เบื้องต้นอาจยังต้องชะลอแผนลงทุนออกไปก่อนเพราะติดสถานการณ์โควิด-19 แต่ด้วยกำลังการผลิตสินค้าในปัจจุบันยังรองรับกับการเติบโตของตลาดได้ดี ทำให้การชะลอแผนการลงทุนจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อยอดขายสินค้าในตลาดอินโดนีเซีย

“แนวทางการเติบโตรูปแบบ Inorganic ปัจจุบันยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการส่วนนี้ แต่ดีลก่อนหน้านี้ที่ให้กลุ่มพันธมิตรสัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 3% เป็นส่วนช่วยขยายตลาดและกระตุ้นยอดขายในประเทศญี่ปุ่นได้ดีระยะถัดไป และแผนการร่วมกับพันธมิตรต่างชาติรายอื่นๆ อาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เนื่องจากบริษัทมีพันธมิตรท้องถิ่นในหลายประเทศที่เข้าไปทำการตลาดและมีคู่ค้าที่สนใจอยากให้บริษัทเข้าไปร่วมลงทุนด้วย แต่ทุกๆการตัดสินใจลงทุนต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

นายสุรนาถ กล่าว

นายสุรนาถ กล่าวเพิ่มว่า บริษัทไม่ได้หยุดนิ่งพร้อมพัฒนานวัตกรรมอาหารสอดรับกับกระแสเทรนด์อนาคต ล่าสุดบริษัทได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับกับกระแสความนิยมรับประทานอาหารคีโต (Keto) เช่น อาหารที่เป็นประเภท Low Carb และประเภท Gluten free หรือเป็นประเภทแป้งที่ใช้การอบทดแทนการทอด รวมไปถึงอาหารประเภท Plant Based Food เป็นอาหารที่ทำจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น อาหารสำเร็จอย่างเนื้อเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช เป็นต้น หรือกรณีลูกค้าต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองทางบริษัทมีทางเลือกพร้อมนำเสนอส่วนผสมรูปแบบของ Food Ingredients รองรับกับเทรนด์ของลูกค้าที่มีความต้องการของตลาดในไทยและต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top