สธ.ได้รับรายงานฑูตญี่ปุ่นติดโควิด แต่ไม่พบรมต.ไทยติดเชื้อจากสถานบันเทิง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิการบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวแถลงถึงกระแสข่าวที่ออกมาว่ามีท่านรัฐมนตรีไปติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสถานบันเทิงนั้นว่า ทางสถานฑูตประเทศญี่ปุ่นก็ได้รายงานแล้วว่า เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และขณะนี้อาการทรงตัวค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ พบว่าไม่ได้มีรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไปเที่ยวสถานบันเทิงกับท่านฑูตญี่ปุ่นแต่อย่างใด รวมทั้งมีกระแสข่าวว่า รัฐมนตรีที่ติดเชื้อไปสถานบันเทิงและไม่ได้ฉีดวัคซีน หลายคนชี้ไปว่าเป็น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่จากการสอบถามท่านฑูตและเจ้าหน้าที่ฑูตญี่ปุ่นก็บอกว่าท่านไม่ได้ไป ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่าไม่ได้มีรัฐมนตรีท่านใดไปเที่ยวสถานบันเทิงทองหล่อกับท่านฑูต

อย่างไรก็ดี นายสุพัฒนพงษ์ ไม่ได้ไปงานเลี้ยงกับท่านฑูตแต่อย่างใด แต่เพื่อความสบายก็จะไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 วันนี้ที่โรงพยาบาลอุดรธานี เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี พอท่านได้รับทราบข่าวก็ยินดีที่จะไปตรวจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสบายใจ ท่านไม่ได้ไปทองหล่อกับท่านฑูต กับเจ้าหน้าที่ฑูตญี่ปุ่น

น.พ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง กำหนดให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 1 คนต่อ 2-4 ตารางเมตร ให้สแกนไทยชนะ ให้รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลของผู้ใช้บริการ มีการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับจำนวนคนที่ใช้บริการ ห้ามมีการเต้นรำในสถานบริการ หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิด/ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน และให้ทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่นลูกบิดหรือมือจับประตู ก๊อกน้ำ

หากสถานบริการ สถานบันเทิง ไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร สั่งปิดเพื่อปรับปรุงอย่างน้อย 14 วัน

นอกจากนี้ ให้เจ้าพนักงานฯ(ปกครอง สาธารณสุข) ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการประเภทผับ บาร์ และคาราโอเกะ ในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือเจ้าของสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด

เพื่อการเฝ้าระวัง กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ในพนักงานประจำร้าน อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ นักเที่ยว หรือประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือมีความกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้ทำแบบประเมินความเสี่ยง พร้อมทั้งเฝ้าระวัง สังเกตุอาการตนเอง และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (EOC) หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top