ไทยประกาศแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หวังสหรัฐจัดขึ้นเทียร์ 1

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ต่อเนื่องครอบคลุมทุกมิติ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะได้รับการประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต (Trafficking in Persons Report:TIP Report) จากสหรัฐให้อยู่ในระดับเทียร์ 1 หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์

โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่เทียร์ 2 มาเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง แสดงถึงการเป็นประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบการลักลอบค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ดีขึ้นจากก่อนหน้าที่เคยอยู่เทียร์ 2 แบบต้องจับตา (Watch list) และเทียร์ 3 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดส่งรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย (ทิปรีพอร์ต) ประจำปี พ.ศ.2563 ให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 และตามด้วยรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน (ช่วงม.ค.- มี.ค.64 ) เมื่อวันที่ 3 เม.ย.64 ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว

สาระของรายงาน แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการขยายและต่อยอดการดำเนินงานจากปีก่อนๆ อาทิ สถิติการดำเนินการจับกุมและการลงโทษทางกฎหมาย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การพิจารณาคดีค้ามนุษย์ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล มีความรวดเร็วขึ้น เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน ระยะเวลาในการทำสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ลดลงจาก 118 วันในปี 2558 เหลือ 70 วันในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการดูแลกลุ่มผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งผลงานสำคัญและสอดรับกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัล คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการค้ามนุษย์ ผ่านแอปพลิเคชัน PROTECT-U ซึ่งเป็นช่องทางแจ้งเหตุและช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ใช้ได้ถึง 7 ภาษา ประกอบด้วย ไทย จีน อังกฤษ เมียนมา เขมร ลาว เวียดนาม จีน และไทย และได้เดินหน้าขยายการใช้งานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง พัฒนามาตรการความร่วมมือเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายกับประเทศต้นทางและปลายทางอย่างต่อเนื่อง

“นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นๆ ซึ่งคำว่าทุกภาคส่วนนี้ นายกฯ ครอบคลุมถึงภาคประชาสังคมที่เป็นอีกกลไกสำคัญในการแจ้งข้อมูล และช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบติดตามการทำงานของกลไกราชการ และในโอกาสนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น PROTECT-U เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์” รองโฆษกฯ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top