แนวโน้มหุ้นไทยเช้านี้แกว่งจำกัดอิงซึมลงหลังกังวลโควิดกลับมาระบาดอีกรอบ

นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบจำกัด ให้น้ำหนักซึมลงเล็กน้อยจากเหตุการณ์ระบาดในประเทศมีผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงมีผู้เกี่ยวข้องหลายอาชีพ รวมถึงรัฐมนตรีบางคน คาด Fund Flow อาจขายลดความเสี่ยงก่อน แนะให้ติดตามผลประกอบการ บจ.ทั้งในไทยและสหรัฐ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมให้แนวรับ 1,570-1,575 จุด ส่วนแนวต้าน 1,590 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์ในกรอบจำกัด ใหน้ำหนักในทางซึมลงเล็กน้อย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น และเข้าสู่ใจกลางเมือง รวมถึงเกี่ยวข้องกับหลายอาชีพ รวมถึงรัฐมนตรีบางคนก็กักตัวแล้ว

ทั้งนี้ คงต้องเฝ้าระวังช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เพราะการเดินทางจะทำให้มีโอกาสแพร่กระจายตัวการแพร่ระบาดโควิด-19 และหลังสงกรานต์ภาครัฐฯจะมีมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนบวก หลังกองทุน IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นเติบโต 6% จากเดิมคาดโต 5.5% ส่วนบ้านเราเป็นปัจจัยเฉพาะตัว นอกจากนี้ คาดว่า Fund Flow คงขายลดความเสี่ยงก่อน ทั้งนี้ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้งในไทย-สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด

พร้อมให้แนวรับ 1,570-1,575 จุด ส่วนแนวต้าน 1,590 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (6 เม.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,430.24 จุด ลดลง 96.95 จุด (-0.29%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,073.94 จุด ลดลง 3.97 จุด (-0.10%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,698.38 จุด ลดลง 7.21 จุด (-0.05%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเพิ่มขึ้น 0.45 จุด ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 46.85 จุด และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 162.66 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (5 เม.ย.) 1,579.66 จุด ลดลง 16.61 จุด (-1.04%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,513.71 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (6 เม.ย.) ปิด 59.33 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ หรือ 1.2%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (6 เม.ย.) อยู่ที่ 2.61 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.25/27 แข็งค่าตามสกุลหลักหลังดอลลาร์อ่อนจากแรงขายทำกำไร.
  • กระทรวงการคลังประสานที่ปรึกษาการเงินเปิดประมูลขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ต่อเนื่อง ชี้ไม่ลดราคาแม้โควิดระบาด ปลื้มกำไรหุ้น “โออาร์” แล้วกว่า 2 พันล้านบาท หรือสูงกว่าต้นทุน 80%.
  • กระทรวงคลังเล็งทบทวนสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ 119 แห่ง มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ชี้ยึดหลักประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และคำนึงถึงความจำเป็นการใช้ของเงินภาครัฐ.
  • รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 7 เม.ย.นี้ กรมสรรพสามิต โดยกระทรวงการคลัง จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาขยายเวลาการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นหรือเจ๊ต จาก 4.726 บาทต่อลิตร ลงเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 8 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ถึงสิ้นเดือนธ.ค.64 หลังจากมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงวันที่ 30 เม.ย.64 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิดทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสายการบินลดลง และสามารถปรับลดค่าโดยสารช่วยเหลือการเดินทางให้แก่ประชาชนผู้ใช้สายการบินได้.
  • น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ในวันที่ 28 เม.ย. นี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ชะลอตัวจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 3%

หุ้นเด่นวันนี้

  • EPG (เคจีไอ) “เก็งกำไร” เป้า Consensus 11.65 บาท ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงาน Q4/64 (ม.ค.-มี.ค.) ยังเด่นจากต้นทุนเม็ดพลาสติกต่ำที่สต๊อกไว้ , ประเมินแนวโน้ม 3 ธุรกิจหลักโตเด่นต่อในปี 2564/65 (ปิดงบ มี.ค.) โดยธุรกิจฉนวนได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเตรียม Renovate อาคารครั้งใหญ่ทั่วโลกหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 (คาดอาคารต่างๆ ต้องรื้อระบบท่อแอร์ใหม่) และธุรกิจค้าปลีกชิ้นส่วนประดับยนต์ที่ออสเตรเลียฟื้นต่อเนื่อง รวมถึง คาดความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับ Food delivery ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้น
  • ITEL (ฟินันเซียไซรัส) “ซื้อ” ปรับเพิ่มราคาเป้าเป็น 6.40 บาท ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2021-2023 ขึ้นเป็นเติบโตเฉลี่ย +26% CAGR สะท้อนศักยภาพของธุรกิจใหม่ซึ่งจะสร้าง New S-Curve โดยเฉพาะ Drone และ Anti-Drone รวมถึง Social Data และฐานะการเงินแข็งแกร่งรับการเติบโต 3 ปีข้างหน้า โดย Net IBD/E จะลดลงเหลือ 1.9 เท่าในปี 2023 และการรวมการแปลงสภาพของ ITEL-W2 และ W3 จะยิ่งทำให้ฐานทุนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
  • STEC (เอเซียพลัส) เป้า 18 บาท STEC ทิศทางธุรกิจสดใสจาก Backlog ปัจจุบันที่มีสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท รองรับการสร้างรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า พร้อมโอกาสที่เปิดกว้างจากงานประมูลภาครัฐจำนวนมากที่ทยอยออกมาในปีนี้ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายจะรับงานใหม่ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินรายได้ก่อสร้างเติบโต 7%YoY สู่ระดับ 3.8 หมื่นล้านบาท อีกทั้งวันนี้ ครม.มีมติประชุมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท คาดสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มรับเหมา โดยเฉพาะ STEC ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ชนะสัมประทาน ขณะที่ประเมินมูลค่าทางพื้นฐานที่ระดับ 18 บาท มี Upside เกือบ 15% ขณะที่ PBV แม้ว่าจะอยู่ที่ 1.68 เท่า แต่ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 3.48 เท่า ถึง 51%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top