ธปท.เร่งดำเนินการ 3 แนวทางเปลี่ยนผ่านจากการใช้อัตราดอกเบี้ย THBFIX ไปสู่ THOR

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่จะมีการยุติการใช้อัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ (USD LIBOR) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งส่งผลให้ ธปท. ต้องยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ไปพร้อมกันด้วย

ดังนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX เป็นไปอย่างราบรื่น ธปท. และคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR (คณะทำงาน) ได้มีข้อสรุปเรื่องแนวทางดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX ดังนี้

  1. เร่งปรับสัญญาจากการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ให้เป็นอัตราดอกเบี้ย Thai Overnight Repurchase Rate (THOR) สถาบันการเงินและภาคธุรกิจที่มีธุรกรรมอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ต้องเร่งเจรจาเพื่อปรับสัญญาโดยเร็วที่สุด และควรเสร็จสิ้นล่วงหน้าก่อนการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากเป็นแนวทางที่สามารถลดความเสี่ยงต่อผู้ที่มีสัญญาอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ได้ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยเร่งพัฒนาตลาด THOR ได้โดยเร็วจากการที่ผู้ร่วมตลาดร่วมมือปรับสัญญาพร้อม ๆ กัน
  2. ยุติการทำธุรกรรมใหม่ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้ และหุ้นกู้อนุพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อจำกัดปริมาณธุรกรรมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจในการบริหารจัดการสัญญาคงค้างในอนาคต นอกจากนี้ ตลาดอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX จะมีสภาพคล่องลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากผู้ที่มีสัญญาสินเชื่อใหม่ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR จะทำธุรกรรมเพื่อปิดความเสี่ยงในตลาดอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR แทน
  3. ใช้อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ทดแทนอัตราดอกเบี้ย THBFIX ในธุรกรรมคงค้างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดย ธปท. จะเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) ซึ่งมีผลใช้ทดแทนในธุรกรรมคงค้างตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 จนถึงสิ้นปี 2568 เท่านั้น สถาบันการเงินและภาคธุรกิจสามารถใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้เฉพาะกับธุรกรรมคงค้างที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมใหม่ใด ๆ ได้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fallback Rate (THBFIX) มีข้อจำกัดในการหาราคาตลาดเพื่อใช้ประเมินมูลค่าและยกเลิกธุรกรรมคงค้าง จึงควรใช้ทดแทนในธุรกรรมคงค้างกรณีจำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ ธปท. และคณะทำงานได้ร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และสนับสนุนการใช้อัตราดอกเบี้ย THOR ในธุรกรรมทางการเงินหลายประเภท เช่น การกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคาร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตราสารหนี้ หุ้นกู้อนุพันธ์ของภาคเอกชน และตราสารอนุพันธ์ รวมถึง พันธบัตร ธปท. ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ซึ่งช่วยให้ตลาด THOR มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

“ธปท. และคณะทำงาน ยังต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากผู้ร่วมตลาดทุกภาคส่วนต่อไป เพื่อส่งเสริมให้ตลาด THOR มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX ได้อย่างสมบูรณ์” 

นายรณดล ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top