ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้ามี.ค.ปรับดีขึ้น แต่ยังเปราะบางทุกภาค คาดฟื้นตัว Q3

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือน มี.ค.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 23-29 มี.ค.64 อยู่ที่ระดับ 30.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.6

โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 31.3 เพิ่มขึ้นจาก 30.4 ในเดือนก.พ., ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 31.3 เพิ่มขึ้นจาก 30.1, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.9 เพิ่มขึ้นจาก 33.7, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 30.1 เพิ่มขึ้นจาก 29.0, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 30.0 เพิ่มขึ้นจาก 29.1 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 27.9 เพิ่มขึ้นจาก 26.7

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ คือ สถานการณ์ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ค่อนข้างเกือบปกติ, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ และเรารักกัน เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, แผนการกระจายวัคซีนโควิดของรัฐบาลในพื้นที่เสี่ยงเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงการฉีดวัคซีนของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสาปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รอบใหม่ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทาให้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมือง และสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง, การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.64 หดตัว 2.59%, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย และระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทังนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.เร่งพิจารณาแผนการผ่อนคลายภายในประเทศ และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

2.พิจารณากฎระเบียบในการเดินทางเข้าออกประเทศ อาทิ การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สาหรับการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ

3.เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้การดาเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีการคลี่คลายลง

4.ออกมาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดาเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

“เศรษฐกิจทุกจังหวัดยังเปราะบาง และยังฟื้นตัวได้ไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ไม่มีสัญญาณที่ดี ทุกจังหวัดยังเจอเศรษฐกิจติดลบ และยังไม่ฟื้นกลับมาได้เท่ากับตอนก่อนที่เกิดโควิด มันหายไปครึ่งหนึ่ง แทบทุกภาคโดยเฉพาะภาคใต้ จะแย่เรื่องท่องเที่ยว และภาคเกษตร แทบทุกจังหวัดถ้าตัวเลขออกมาต่ำกว่า 33 จะถือว่าแย่ ทุกคนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ในไตรมาส 3” นายธนวรรธน์ ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top