ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯเริ่มฟื้น หลังมีวัคซีนโควิด-มาตรการกระตุ้นภาครัฐ

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 ต่อเนื่องมา 8 ไตรมาส (QoQ) ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62 จากการประกาศใช้มาตรการ LTV ในเดือนเม.ย.62 ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัด และในไตรมาส 1/64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องไปในบางพื้นที่ อีกทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0

โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความเชื่อมั่นในเรื่องผลประกอบการ ยอดขาย และการลงทุนสูงกว่าระดับ 50.0 ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลัดทรัพย์ฯ มีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50.0 อย่างชัดเจน สะท้อนภาพความกังวลในภาวะความไม่แน่นอนที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดมาต่อเนื่อง และการแข่งขันในตลาดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้เริ่มขยับขึ้นมีค่าเท่ากับ 58.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เริ่มมีความเชื่อมั่นในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลงทุน รวมทั้งผลประกอบการ และยอดขายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ การสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจในช่วงกลางเดือนก.พ.-มี.ค.64 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนบางกลุ่มในประเทศไทย และรัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (ไม่นับรวมบ้านมือสอง) ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปจนถึงสิ้นปี 64 และยังได้เลื่อนประกาศอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ไปเป็นปี 65 การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือ 10% ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยลดภาระของผู้ซื้อ และผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในอนาคตมากยิ่งขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top