ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,048 ราย ในปท.1,991-ตรวจเชิงรุก 47-ตปท.10,ตาย 8

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 57,508 คน (+2,048)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,991 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 47 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 10 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 31,593 คน (+480)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 25,767 คน (+1,560)
  • เสียชีวิตสะสม 148 คน (+8)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,048 ราย ประกอบด้วย

– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,991 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 47 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 10 ราย จากต้นทาง อินเดีย 4 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน จีน ตุรกี ฮังการี กาตาร์ ประเทศละ 1 ราย
– ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8 รายส่วนใหญ่ติดเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า แนวโน้มอายุน้อยลง และอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย

รายที่ 141 เป็นชายไทย อายุ 61 ปี อาศัยอยู่ที่จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด 17 เม.ย. มีไข้ ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก, 23 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.
รายที่ 142 เป็นชายไทย อายุ 45 ปีอาศัยอยู่ที่ กทม. ซึ่ง 17 เม.ย. มีไข้ หายใจลำบาก, 19 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.
รายที่ 143 เป็นชายไทย อายุ 24 ปี อาศัยอยู่ที่อุดรธานี เป็นโรคหลอดน้ำเหลืองและเนื้องอก, 22 เม.ย. มีไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน, 24 เม.ย. พบว่าติดเชื้อและเสียชีวิตในวันเดียวกัน
รายที่ 144 เป็นชายไทย อายุ 92 ปี อาศัยอยู่ที่ชัยภูมิ เป็นโรคหัวใจขาดเลือด 19 เม.ย. มีไข้ เจ็บหน้าอก, 20 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.
รายที่ 145 เป็นชายไทย อายุ 63 ปี อาศัยอยู่ที่ยะลา เป็นโรคไตวายเรื้อรัง 17 เม.ย. เหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ, 20 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 25 เม.ย.
รายที่ 146 เป็นหญิงไทย อายุ 52 ปี อาศัยอยู่ที่กทม. มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และไทรอยด์เป็นพิษ 17 เม.ย. มีไข้ ไอ เจ็บคอ เหนื่อย, 23 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.
รายที่ 147 เป็นหญิงไทย อายุ 57 ปี อาศัยอยู่ที่กทม. เป็นโรคหมอนรองกระดูก และทับเส้นประสาท 16 เม.ย. ไอ ปวดหลัง, 20 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.
รายที่ 148 เป็นชายไทย อายุ 60 ปี อาศัยอยู่ที่กทม. มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง 17 เม.ย. มีไข้ ไอ เหนื่อย, 22 เม.ย. พบว่าติดเชื้อ และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย.

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 57,508 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 32,520 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 21,707 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,281 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 31,593 ราย เพิ่มขึ้น 480 ราย กำลังรับการรักษา 25,767 ราย อาการหนัก 563 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 148 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า เมื่อแยกยอดผู้ติดเชื้อรายจังหวัด 10 อันดับแรก สูงที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อถึง 901 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 110 ราย ชลบุรี 104 ราย นนทุบรี 97 ราย เชียงใหม่ 84 ราย สุราษฎร์ธานี 61 ราย สมุทรสาคร 56 ราย นครปฐม 48 ราย สงขลา 38 ราย เพชรบุรี 32 ราย

“กทม. ยังคงมีการพบเพิ่มสูงอยู่ จากการตรวจที่ราววันละกว่าหมื่นตัวอย่าง ทำให้คาดว่า ยังคงพบตัวเลขเกิน 500 รายต่อวัน จะยังคงมีต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง”

พญ.อภิสมัย ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดที่จ.สมุทรสาครที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากว่า การตรวจหาเชื้อนั้นทำเป็นระบบและเป็นกลุ่มในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยมีความร่วมมือของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนโรงงานต่างๆ เจ้าหน้าที่และแลบที่ลงตรวจพื้นที่ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อพบผู้ติดเชื้อก็มีการกักตัวอยู่ในโรงงานรวมถึงส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม แต่ในเคสของ กทม. การตรวจหาเชื้อมาจากหลายโรงพยาบาล หลายแล็บ ทั้งในกทม. และปริมณฑล บางครั้งการตรวจอาจไม่ได้มาตรฐาน เช่น การตรวจ Rapid test ผลที่ได้ออกมาไม่ตรงและไม่ครบถ้วน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำ ให้เพิ่มศักยภาพกระบวนการตรวจหาเชื้อ โดยให้กรมการแพทย์ทำหน้าที่รวมข้อมูลต่างๆเพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์ส่วนใหญ่ไม่พบว่า มีคลัสเตอร์ใหม่ แต่หากแยกเป็นรายจังหวัด ยกตัวอย่าง กทม. มีเกินกว่า 5 คลัสเตอร์ แต่ละคลัสเตอร์ พบผู้ติดเชื้อเกิน 50 คน, จ.เชียงใหม่ พบ 6 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อรวม 179 ราย, จ.นครพนม 1 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อรวม 31 ราย, จ.พระนครศรีอยุธยา 1 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อรวม 31 ราย, จ.อ่างทอง 1 คลัสเตอร์ พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย, จ.สมุทรปราการ 2 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อยรวม 23 ราย และจ.นครศรีธรรมราช 1 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อรวม 23 ราย

ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเตรียมผู้ป่วยนั้น ต้องดำเนินการในแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวไม่มีอาการมาก ก็ต้องเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม แล้วเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล กลับบ้านกว่า 400 คน ทำให้มีเตียงว่าง แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 มารักษาตามจำนวนเตียงที่ว่างได้ทั้งหมด เนื่องจากทางโรงพยาบาลยังเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย ดังนั้นจะต้องรองรับผู้ป่วยอื่น แม้ว่าจะมีเตียงว่าง แต่ทรัพยากรและบุคลากรของโรงพยาบาลไม่ได้มีความพร้อม เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงขอให้ประชาชนเข้าใจและทางกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการบริหารจัดการเตียงและเพิ่มศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยยืนยันไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือผู้ที่ยังรอเตียงอยู่ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการบริหารจัดการเตียงนั้นมีความยากลำบาก

นอกจากนี้จะมีการเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาครรวมถึงจะเปิด Organizational Quarantine (OQ) หรือ สถานที่กักกันผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศในพื้นที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนอีก 14 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเปิดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้

พร้อม ขอความร่วมมือผู้ติดเชื้ออย่าปกปิดไทม์ไลน์ เพราะจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงมีบุคลากรทางการแพทย์ต้องกักตัวมากขึ้น ทำให้เสียบุคลากรเป็นจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำ เดินทางเข้ามายังประเทศไทยนั้น ข้อเท็จจริงและคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบไปยังสถานเอกอัคคาราชทูตสถานกงสุลไทยในอินเดียพบว่า ไม่ได้มีการออก COE (Certificate of Entry หรือ หนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย สำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ให้กับชาวอินเดียเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย และทางสำนักงานการบินพลเรือนยืนยันไม่มีการเดินทางเข้าไทยโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำจากอินเดีย ดังนั้นขอให้สื่อมวลชนช่วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอข่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีชาวอินเดียเดินทางออกนอกประเทศจริงแต่จุดหมายไม่ใช่มายังประเทศไทย

ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะระงับการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติในช่วงนี้ออกไปก่อน ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าววว่า การชะลอการออก COE นั้น ในที่ประชุม ศบค. ได้มีการทบทวนและขอให้ติดตามความชัดเจนจากทางกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ในส่วนของคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน ก็ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะถือเป็นสิทธิของคนไทย แต่ทั้งนี้คนไทยที่เดินทางกลับมาต้องได้รับการดูแลในสถานที่กักกันตัว เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ซึ่งบางครั้งจะพบเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศภายหลังระยะเวลากักตัวไปแล้ว 10 วัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่กรมควบคุมโรคจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ผู้ที่เดินทางมาจากบางประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวมากกว่า 14 วันหรือไม่

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 147,783,379 ราย เสียชีวิต 3,122,538 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,824,389ราย อันดับสอง อินเดีย 17,306,300 ราย อันดับสาม บราซิล 14,340,787 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,498,044 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,762,569 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top