พาณิชย์ เผยผลสำรวจดัชนี IPI แนะเร่งขยายตลาด 14 ปท.ในภูมิภาคยุโรป

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า (Import Potential Index: IPI) เพื่อเป็นเครื่องมือประเมินความสามารถในการนำเข้าของประเทศคู่ค้าของไทย โดยผลการจัดอันดับดัชนี IPI พบว่าประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงสุด 10 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออก (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) มีศักยภาพในการนำเข้าสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ รองลงมา คือ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ซึ่งล้วนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับไทย มีศักยภาพการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างน่าสนใจ

นายภูสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สนค. ได้นำผลคะแนนดัชนี IPI มาพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ระดับมูลค่าส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้า (Export value) ความเข้มข้นของการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้า (Export intensity) และความสอดคล้องระหว่างประเภทสินค้านำเข้าของประเทศคู่ค้ากับสินค้าส่งออกของไทย (Trade Complementarity) สามารถแบ่งกลุ่มประเทศคู่ค้า และวางแนวทางการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

1. กรณีที่ประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูง และระดับมูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศนั้นๆ สูงด้วย สามารถแบ่งกลุ่มประเทศได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ดังนี้

1.1 กลุ่มประเทศที่ไทยสามารถส่งออกได้ตามศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้าแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ควรมีแนวทางการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ “การรักษาฐานตลาด” ตลอดจนปรับปรุงพัฒนา และรักษามาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด และสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง

1.2 กลุ่มประเทศที่ไทยยังส่งออกได้น้อยกว่าศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้านั้น ประกอบด้วยประเทศในภูมิภาคยุโรป 14 ประเทศ (เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน เช็ก โปแลนด์ ฮังการี และอิตาลี) เอเชีย 5 ประเทศ (เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และอิสราเอล) อเมริกาเหนือ 2 ประเทศ (แคนาดา และเม็กซิโก) ชิลี และรัสเซีย โดยควรมีแนวทางส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ “การขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น” ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

2. กรณีที่ประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ระดับมูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศนั้นๆ ยังอยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย สำหรับกรณีนี้ สนค. ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม โดยใช้ดัชนีความสอดคล้องทางการค้า (Trade Complementarity Index) ประเมินความสอดคล้องกันระหว่างสินค้าที่ประเทศคู่ค้าต้องการนำเข้าจากโลกกับสินค้าที่ไทยส่งออก ดูว่าความต้องการซื้อตรงกับความตรงการขายหรือไม่ และสามารถแบ่งกลุ่มประเทศเป็น 2 กลุ่มย่อย ดังนี้

2.1 กลุ่มประเทศที่ความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขายอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคยุโรป 10 ประเทศ (นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ออสเตรีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย โปรตุเกส ลัตเวีย สโลวัก โรมาเนีย และโครเอเชีย) และภูมิภาคเอเชียกลาง 2 ประเทศ (อาเซอร์ไบจาน และคาซัคสถาน) มีแนวทางส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ “การขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น และเร่งศึกษาตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการค้า”

2.2 กลุ่มประเทศที่ความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขายอยู่ในระดับปานกลาง-น้อย ได้แก่ ปานามา และบัลแกเรีย มีแนวทางส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ “ค้นหาสินค้าที่ตลาดต้องการ ส่งเสริมการตลาดรายสินค้า และผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

3. กรณีที่ประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าปานกลาง แต่ความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขายอยู่ในระดับสูง ได้แก่ โมร็อกโก เซอร์เบีย โคลัมเบีย บาห์เรน ยูเครน อุรุกวัย อาร์เมเนีย กานา และโบลิเวีย เนื่องจากความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขาย ทำให้มีโอกาสเจาะตลาดเพิ่มขึ้น จึงควรศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อ ให้ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดกลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้นในอนาคต

นายภูสิต กล่าวว่า สนค. ได้นำเสนอผลการจัดทำดัชนี IPI ต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณามอบหมายกรมที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสและขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ อาทิ การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ (เช่น ภูมิภาคยุโรป) การส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง ซึ่งการจัดทำดัชนี IPI นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนงานกระทรวงพาณิชย์ปี 2564 ตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ โดยการเดินหน้ายุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต และเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศ

อนึ่ง สำหรับการจัดทำดัชนี IPI ครั้งนี้ ครอบคลุมประเทศคู่ค้าใน 10 ภูมิภาค (อาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา รัสเซียและเอเชียกลาง และแอฟริกา) รวมทั้งสิ้น 89 ประเทศ โดยพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สะท้อนศักยภาพในการนำเข้า 6 มิติ 34 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย (1) มิติเศรษฐกิจมหภาค 5 ตัวชี้วัด (2) มิติการค้ากับต่างประเทศ 4 ตัวชี้วัด (3) มิติต้นทุนทางการค้าระหว่างประเทศ 7 ตัวชี้วัด (4) มิติโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า 5 ตัวชี้วัด (5) มิติเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 5 ตัวชี้วัด และ (6) มิติแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต 8 ตัวชี้วัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top