ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,012 ราย ในปท.1,893-ตรวจเชิงรุก 108-ตปท.11,ตาย 15

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 61,699 คน (+2,012)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,893 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 108 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 11 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 34,402 คน (+851)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 27,119 คน (+1,146)
  • เสียชีวิตสะสม 178 คน (+15)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,893 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 108 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 11 ราย มาจากประเทศปากีสถาน 4 ราย กัมพูชา 2 รายอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเช็ก กาตาร์ จีน ประเทศละ 1 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย เป็นชาย 11 และหญิง 4 ส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ไตเรื้อรัง โรคอ้วน โดยมีความเสี่ยงจากมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในครอบครัวมากกว่า 10 ราย และมี 1 รายเสียชีวิตในระหว่างรอคิวตรวจเป็นเวลา 3 วัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 61,699 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 36,562 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 21,840 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,297 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 34,402 ราย เพิ่มขึ้น 851 ราย กำลังรับการรักษา 27,119 ราย อาการหนัก 695 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 178 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุดของวันนี้ คือ

  • อันดับ 1 กรุงเทพฯ 830 ราย ส่งผลให้วันนี้ในกรุงเทพฯ มียอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่วันที่ 1-28 เม.ย.64 รวม 10,889 ราย
  • อันดับ 2 สมุทรปราการ 161 ราย
  • อันดับ 3 ชลบุรี 108 ราย
  • อันดับ 4 นนทบุรี 71 ราย
  • อันดับ 5 สมุทรสาคร 59 ราย
  • อันดับ 6 ปทุมธานี 57 ราย
  • อันดับ 7 เชียงใหม่ 55 ราย
  • อันดับ 8 สงขลา 52 ราย
  • อันดับ 9 สุราษฏร์ธานี 40 ราย
  • อันดับ 10 นครปฐม 38 ราย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในหลายๆจังหวัดปรับตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นสีเขียว สีเหลือง สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในจังหวัดนั้นๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่สามารถจัดสรรเตียง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ มีการปรับระดับสีตามจังหวัด ซึ่งพบว่า มี 9 จังหวัดที่ไม่มีการรายผู้ติดเชื้อจึงปรับเป็นพื้นที่สีขาว และมี 35 จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อ 1-10 รายในจังหวัดนั้นๆ จึงปรับเป็นพื้นที่สีเขียว และมี 25 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 11-50 รายในจังหวัดนั้นๆ เป็นพื้นที่สีเหลือง และมี 3 จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายยังกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงไว้

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึง การระบาดระลอกเดือนเมษายน ข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย. จำนวน 20,721 ราย พบปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 9,177 ราย แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยไม่ได้ระวัดระวังหรือไม่ได้แยกกักตัว
  2. สถานบันเทิง 5,266 ราย
  3. การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน 2,025 ราย

ในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กได้ติดตามสิ่งที่ประชาชนกังวลคือเรื่องของการรอเตียง โดยได้หารือและพยายามบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดหาเตียงให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้การเปรียบเทียบตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักใน กทม. พบว่า มีจำนวนสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกวัน ซึ่งการเปิดโรงพยาบาลสนามโดยเฉพาะในพื้นที่ของ กทม. อาจไม่ตอบโจทย์ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนัก ที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย. มีผู้ป่วยอาการหนัก 225 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 104 ราย

ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 27 เม.ย. รวม 851 ราย ซึ่งทำให้เตียงผู้ป่วยว่างลง และเมื่อพบผู้ติดเชื้อใหม่ที่มีอาการหนัก จึงจำเป็นต้องได้เข้ารับการรักษาก่อน จึงต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า อาจจะกระทบกับผู้ที่รอเตียงมาก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันระหว่างการรอเตียงผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตอาการ ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงต้องแยกกักตัวไม่ให้ติดเชื้อไปยังคนในครอบครัวและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน

ด้านการกระจายวัคซีน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่บนพื้นฐานการใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ส่วนควรจะฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น พบว่า วัคซีนจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการใช้โรงพยาบาลและไอซียู แต่ยังไม่มีรายงานว่าการฉีดวัคซีนแล้วจะไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อ จึงเห็นว่า ประชาชนควรฉีดวัคซีน และตั้งเป้าจะฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในปีนี้

ส่วนที่มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียงโดยมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์นั้น จากการสอบสวนพบว่า บางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และชา เมื่อมีการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง พบว่า มีอาการคล้ายอัมพฤกษ์แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ขณะเดียวกันมีแพทย์ที่ยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา จากนี้จะมีการสอบสวนต่อไปว่า จะมีข้อสรุปใดในอนาคต ขณะนี้เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตเกิดจากความใส่ใจและห่วงใยซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกคนสามารถมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่จะต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันด้วย

สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย (ตั้งแต่ 28 ก.พ. – 27 เม.ย.64) รวม 1,279,713 โดส ประกอบด้วย ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,038,960 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 (ครบตามเกณฑ์) 240,753ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 149,328,858 ราย เสียชีวิต 3,148,781 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,927,091 ราย อันดับสอง อินเดีย 17,988,637 ราย อันดับสาม บราซิล 14,446,541 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,534,313 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,779,425 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 104

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top