ไทยพบผู้ติดโควิดใหม่ 1,940 ราย ในปท. 1,788-ตรวจเชิงรุก 142-ตปท. 10-ตาย 21

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 คน (+1,940)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,788 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 142 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 10 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 39,481 คน (+1,183)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,481 คน (+736)
  • เสียชีวิตสะสม 245 คน (+21)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,788 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 142 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 10 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 21 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 68,984 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 43,345 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 22,314 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,325 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 39,481 ราย เพิ่มขึ้น 1,183 ราย กำลังรับการรักษา 29,481 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 245 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 21 รายนี้ เป็นเพศชาย 12 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 34-88 ปี ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ รวม 8 ราย, เชียงใหม่ 4 ราย, ชลบุรีและลำพูน จังหวัดละ 2 ราย และนครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเห็นว่าจำนวนการพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ละวันยังอยู่ในระดับสูง จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น

ส่วนการประสานจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้านนั้น กรมการแพทย์ได้รายงานในที่ประชุมให้ทราบว่า ปัจจุบันระยะเวลาการรอเตียงจะเหลือไม่เกิน 1-2 วัน หรือภายใน 48 ชม.แล้ว ซึ่งผู้ป่วยจะได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล หรือ รพ.สนาม แยกตามระดับอาการหนัก-เบาของแต่ละราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการบริหารจัดการเตียงนั้น คือการทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดจำนวนลง ซึ่งสิ่งที่ทุกคนจะช่วยกันทำได้ คือการสวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกจากบ้าน หรือเข้าไปในที่สาธารณะทุกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่ได้ประเมินผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกล้อง CCTV ตามจุดต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 99.37% ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง มีเพียง 0.45% ที่ใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง และอีก 0.18% ไม่ใส่หน้ากากอนามัย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงข้อร้องเรียนของประชาชนในการลงทะเบียนจองรับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ผ่าน “หมอพร้อม” ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) เป็นวันแรกว่า ยอมรับว่าการลงทะเบียนมีความขัดข้องจนต้องมีการปิดระบบไปชั่วคราว เนื่องจากมีผู้เข้ามาลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมาก แต่ล่าสุดระบบได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ค.64 พบว่ามีประชาชนเข้ามาจองรับวัคซีนแล้ว 430,588 ราย ผ่านระบบ Line Official 329,717 ราย และผ่านแอปพลิเคชั่น 100,871 ราย

อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกในการลงทะเบียนผ่านระบบดังกล่าว สามารถไปติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ รพ.ที่มีประวัติการรักษาอยู่แล้ว รวมทั้ง รพ.สต. หรือ อสม. เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ช่วยลงทะเบียนรับวัคซีนได้เช่นกัน

พญ.อภิสมัย ย้ำว่า ผู้ที่จะลงทะเบียนจองรับวัคซีนในช่วงแรกนี้ จะต้องเป็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคอ้วน ซึ่งจะเริ่มรับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป ส่วนประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18-59 ปี จะเปิดให้ลงทะเบียนจองรับวัคซีนได้ตั้งแต่ ก.ค.64 และเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ ส.ค.เป็นต้นไป

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 152,800,831 ราย เสียชีวิต 3,206,451 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,146,008 ราย อันดับสอง อินเดีย 19,549,656 ราย อันดับสาม บราซิล 14,725,975 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,642,359 ราย และอันดับห้า ตุรกี 4,849,408 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 102

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top