นายกฯ สั่งประเมินผลกระทบศก.หลังมาตรการคุมโควิด เสนอศบศ.ออกแนวทางเยียวยา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) ซึ่งจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้

“นายกรัฐมนตรี มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆ จะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้ว เพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว” น.สไตรศุลี กล่าว

พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความห่วงใยประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆ เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงค่าก๊าซหุงต้ม ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกับมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของระบาดรอบนี้

“ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเวลานี้ขอความร่วมมือทุกคน ให้ช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายโดยเร็ว ประชาชนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top