สรท.ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 6-7% ตามศก.โลกฟื้นตัว จากเดิมคาดโต 3-4%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 64 เป็นขยายตัว 6-7% จากเดิมคาด 3-4% โดยสินค้าส่งออกที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตได้ดี ได้แก่ ยางพารา โต 42%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โด 30%, พลาสติก 30%, น้ำมันสำเร็จรูป โต 25%, ผลิตภัณฑ์ยาง 23%, เคมีภัณฑ์ 15%, ยานยนต์และชิ้นส่วน 10-15%, สิ่งทอ 8-10%, อิเล็กทรอนิกส์ 7% เป็นต้น

สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่

  • 1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    • 1.1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา การขยายตัวของตัวเลขทางเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการว่างงานลดลงจนถึงระดับก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ยอดค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อชองประชาชน, จีนมีการขยายตัวของ GDP แข็งแกร่งมากใน Q1/64 จากการบริโภคในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อภาคการผลิตเพิ่มขึ้น
    • 1.2) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุด ที่ระดับค่าเฉลี่ย 55 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในหลายประเทศทั่วโลก
  • 2) มูลค่าและปริมาณการส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขยายตัวในระดับสูงของสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับจากเดือน พ.ย.61
  • 3) ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วในปลายประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมัน ประกอบกับอุปทานที่ลดลงจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันในเดือน มี.ค. อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
  • 4) ค่าเงินบาทที่ทรงตัวในกรอบการอ่อนค่าอยู่ที่ 31-32 บาท/ดอลลาร์ เนื่องด้วยดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางแข็งค่า หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 ของสหรัฐออกมาดีสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เติบโตต่อเนื่อง

“ยอดส่งออกในเดือนมีนาคมทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นการส่งออกของ Real Sector อย่างแท้จริง ทำให้ สรท.มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเติบโต 6-7% เพราะเราผ่านจุดต่ำสุดของ U-Shape มาแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,400 ล้านดอลลาร์ เราเห็นแสงสว่างของการส่งออกท่ามกลางพายุมรสุมโหมกระหน่ำ เราต้องร่วมมือช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้” นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท.กล่าว

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

  • 1) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง
    • 1.1) การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และ Space Allocation ในเส้นทางยุโรปและ US East Coast รวมถึงปัญหา Congestion ในส่วนของ Inland ในเส้นทาง US West Coast ทำให้บางสายเรือมีการงดรับ Booking ท่าเรือที่เป็น Inland Port ชั่วคราว โดยสามารถรับจองระวางเพียงแค่ Base Port ได้เท่านั้น โดยมีความต้องการอยู่ที่ 1.8 ล้าน TEUs
    • 1.2) ค่าระวางทรงตัวสูงในหลายเส้นทาง อาทิ US West Coast / East Coast และ Europe รวมถึงการเก็บเพิ่มค่า Surcharge ในบางเส้นทาง อาทิ Low Sulphur Surcharge ในเส้นทาง Jebel Ali (ดูไบ) และ Peak Season Surcharge ของตู้ Reefer ในเส้นทางยุโรป เป็นต้น
    • 1.3) ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สภาพการจราจรภายในท่าติดขัดยาวนาน ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงต้นทุนการขนส่ง ค่าใช้จ่ายยกขนตู้สินค้า เสียค่าล่วงเวลาการเช่ารถหัวลากมารับสินค้า การบริหารจัดการสินค้านำเข้าเพื่อป้อนสู่โรงงาน และสินค้าขาออกตกเรือ ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้ากับลูกค้าปลายทางได้ทันตามกำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ
  • 2) การระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย เนื่องด้วยมีการกลับมีการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสในประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ อินเดีย สหภาพยุโรป ที่ยังมีความรุนแรงซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนรวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจยูโรโซน Q1/64 อยู่ที่ขยายตัว 0.6% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • 3) สถานการณ์วัตถุดิบขาดแคลน
    • 3.1) สถานการณ์การขาดแคลนชิป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในส่วนชิปควบคุมและประมวลผลชั้นสูง (Microcontroller) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ส่งผลให้ค่ายรถบางแห่งเริ่มประกาศชะลอการผลิตและส่งมอบรถในบางรุ่นออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับ Stock สินค้าของแต่ละผู้ผลิต
    • 3.2) ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการลดกำลังการผลิตราว 50% ของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกจากมาตรกาควบคุมมลภาวะทางอากาศ ทำให้เกิดภาวะ Short Supply ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์โลหะ เป็นต้น
    • 4) สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม Unskilled labor จากผลกระทบของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงานต่างด้าว ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกหลายๆ อุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหาร ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง โดยมีความต้องการใช้แรงงานอยู่ที่ 2-3 แสนคน

ประธาน สรท.กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) จะนำคณะไปหารือกับสายการเดินเรือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วนำเสนอให้รัฐบาลต่อไป เนื่องจากระบบโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดต้นทุนในส่วนนี้ให้เหลือ 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 12.9-13.4% ซึ่งเป็นปัญหาที่ค้างคามา 3 ปีแล้วยังไม่สามารถทำให้คลี่คลายลงได้เลย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top