พาณิชย์ เผย 2 เดือนแรกปี 64 ไทยใช้สิทธิ FTA และ GSP เพิ่มขึ้น 5.77%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 10,504.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 69.76% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 9,948.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 555.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 5.77%

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 9,948.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.86% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.14% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. อาเซียน (มูลค่า 3,607.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
  2. จีน (มูลค่า 2,868.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
  3. ออสเตรเลีย (มูลค่า 1,222.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
  4. ญี่ปุ่น (มูลค่า 1,013.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
  5. อินเดีย (มูลค่า 718.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. อาเซียน – จีน (82.97%)
  2. อาเซียน – เกาหลี (81.68%)
  3. ไทย – เปรู (79.39%)
  4. ไทย – ชิลี (78.02%)
  5. ไทย – ญี่ปุ่น (74.87%)

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 555.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 25.30% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.60% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 493.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35.14% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 66.79% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 37.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 23.16% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 36.94% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 19.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20.18% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.62% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.41% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 100% สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ผลไม้ปรุงแต่ง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมที่ใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม

ภาพรวมการใช้สิทธิฯ 2 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การส่งออกไปยังตลาดที่ไทยมีความตกลงฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง 5.77% โดยเฉพาะ อาเซียน – จีน (เพิ่มขึ้น 29.78%) และอาเซียน – อินเดีย (เพิ่มขึ้น 9.66%) นอกจากนี้ พบว่าบางตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ ไทย – ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้น 7.81%) และไทย – เปรู (เพิ่มขึ้น 86.04%) ส่วนตลาดอื่นๆ แม้ว่าการใช้สิทธิฯ ลดลง แต่พบว่าเป็นการปรับฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีการหดตัวน้อยลง ได้แก่ อาเซียน – เกาหลี (ลดลง 2.77%) และอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (ลดลง 1.16%)

สำหรับสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ขยายตัว และมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ภายใต้ FTA อาทิ ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน – จีน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน – จีน) น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส (อาเซียน) เครื่องดื่มประเภทนมที่ไม่เติมแก๊ส (อาเซียน) เครื่องซักผ้า (อาเซียน – เกาหลี, ไทย – ชิลี) ยางนอกที่ใช้กับรถยนต์นั่ง (อาเซียน – เกาหลี) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน (ไทย – ชิลี, อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์) ลวดทองแดง (อาเซียน – อินเดีย) เศษของเหล็กกล้าที่ไม่เป็นสนิม (อาเซียน – อินเดีย) กุ้ง (อาเซียน – ญี่ปุ่น) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน – ญี่ปุ่น) ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม (ไทย – เปรู) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย – เปรู) เครื่องปรับอากาศติดผนัง (อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์) เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top