ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 200 ล้านหุ้น-เข้า SET ใช้ขยายธุรกิจ

บมจ.ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 200,000,000 หุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

SVT ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งบริษัทมีโรงงานปรับปรุงสภาพและประกอบ(Refurbishment) เครื่องอัตโนมัติ เพื่อจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ พร้อมทั้งจำหน่ายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้กับลูกค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “SUNVENDING”

วัตถุประสงค์ในการระดมทุน เพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพื่อขยายการติดตั้งให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ เป็น 20,000 เครื่องในปี 66 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง และขยายการติดตั้งเครื่องอัตโนมัติด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบ Franchise รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

พร้อมทั้ง พัฒนาระบบและจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบ Smart ได้แก่ การติดตั้งจอสัมผัสบนเครื่องอัตโนมัติ, การติดตั้งระบบ Vending Machine Control (VMC), การติดตั้งระบบ Vending Machine management (VMM), พัฒนาโปรแกรมเพื่อให้รองรับกับความต้องการของลูกค้า และทิศทางขององค์กรสำหรับเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติแบบออนไลน์

ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 700 ล้านบาท แบ่งเป็น 700 ล้านหุ้น โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 500 ล้านหุ้น หลังเสนอขายหุ้นครั้งนี้จะมีทุนจดทะเบียชำระแล้วเต็มจำนวน

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 31 มี.ค.64 คือ กลุ่มโชควัฒนา ประกอบด้วย บมจ.สหพัฒนพิบูล (สหพัฒน์ฯ) และบริษัทในเครือ ถือหุ้น 308,135,980 หุ้น คิดเป็น 61.62% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนถือหุ้นลงเหลือ 44.02%, กลุ่มครอบครัวโชควัฒนา (ไม่ใช่กรรมการและผู้บริหารของ SVT) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม ถือหุ้น 120,622,670 หุ้น คิดเป็น 24.12% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 17.23% และกรรมการ (นามสกุลโชควัฒนา) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม ถือหุ้น 40,983,310 หุ้น คิดเป็น 8.20% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 5.85%

ผลประกอบการในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้รวม 1,699.35 ล้านบาท 1,805.62 ล้านบาท และ 1,767.36 ล้านบาท ตามลำดับ ตามการขยายพื้นที่บริการด้วยการติดตั้งเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มขึ้น แต่ในปี 63 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้รวมลดลง ขณะที่กำไรสุทธิ เท่ากับ 132.52 ล้านบาท 93.33 ล้านบาท และ 55.54 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 7.70%, 5.17% และ 3.14% ตามลำดับ

ณ สิ้นปี 63 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 1,089.74 ล้านบาท หนี้สินรวม 477.31 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 612.43 ล้านบาท

SVT ระบุว่าตั้งเป้าการเติบโตของรายได้เป็น 3,300 ล้านบาทภายในปี 66 จาก 4 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Retailing) 2. ธุรกิจการขายและให้เช่าเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (VM sale & rental) 3. ธุรกิจการขายโฆษณาผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Advertising) และ 4. ธุรกิจการขยายตลาดค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติผ่านผู้ประกอบการอิสระ (Franchise)

นอกจากนี้ SVT มีแผนจะเพิ่มธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติผ่านผู้ประกอบการอิสระที่ได้รับสิทธิการค้าจากบริษัท (Franchise) และการให้เช่าเครื่อง เพื่อขยายการกระจายการให้บริการจำหน่ายสินค้าผ่านเครื่องอัตโนมัติให้กว้างขวางขึ้น จากแผนธุรกิจของบริษัทดังกล่าว SVT คาดว่าธุรกิจของบริษัทจะมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาสินค้าที่เป็นแบรนด์ของ SVT เพื่อจัดจำหน่ายผ่านเครื่องอัตโนมัติ SVT มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้า SVT จึงมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสั่งผลิตสินค้า (OEM) ที่เป็นแบรนด์สินค้าของ SVT โดย SVT คาดว่าการผลิตสินค้าเองจะทำให้ได้รับส่วนต่างกำไรมากขึ้นอีก 0.30-0.50%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหักเงินสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top