สธ.-สปสช. ประสานเสียงผู้ป่วยโควิดรักษาฟรีทั้งรพ.รัฐ-เอกชน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ประชาชนที่เจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกราย เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโรคร้ายแรงฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากทั้งสถานพยาบาล หรือ รพ.ของรัฐ และ รพ.เอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะรวมทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อโควิด (SWAB) การเข้ารับการรักษา รวมไปจนถึงค่ารถพยาบาลที่ไปรับตัวผู้ป่วย โดยทั้งหมดนี้ประชาชนจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากภาครัฐทั้งหมด ซึ่งโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องไปเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยก่อน

อย่างไรก็ดี จะขอความร่วมมือไปยัง รพ.ต่างๆ ให้งดการแจ้งอัพเดทค่ารักษาพยาบาลเป็นระยะแก่ผู้ป่วยโควิด โดยจะขอให้ยกเลิกการใช้ระบบนี้ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนเกิดความกังวลและสับสนว่าจะต้องมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาล

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้มีการจัดทำรายการค่ารักษาพยาบาลต่างๆ จากกรณีเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ไว้กว่า 3,800 รายการ ซึ่งทุกรายการนี้รวบรวมไว้ตั้งแต่ต้นกระบวนการเข้ารับการตรวจ การรักษา ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าแพทย์-พยาบาล ค่าห้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ สปสช.ได้จัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไว้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา และได้นำเสนอต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว

ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรายการดังกล่าวนี้ รพ.เอกชน สามารถไปเบิกค่าใช้จ่ายได้จาก สปสช.ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยก่อน เว้นแต่ผู้ป่วยจะได้ทำประกันสุขภาพส่วนตัวไว้ ก็ให้ประชาชนใช้สิทธิเบิกจ่ายส่วนนี้ก่อน แล้วที่เหลือ รพ.ค่อยไปเรียกเก็บจาก สปสช.

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่พบว่า รพ.เอกชนบางแห่งจะขอเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยก่อน แล้วจะจ่ายคืนให้ภายหลังเมื่อได้รับเงินจาก สปสช.แล้ว เนื่องจาก รพ.เอกชนดังกล่าวมองว่าระบบการจ่ายเงินคืนของ สปสช.มีความล่าช้า ซึ่งก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจเป็นเช่นนั้น เพราะสปสช.จะมีการเคลียร์ค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิดให้แก่ รพ.เอกชน ตัดรอบทุก 1 เดือน แต่ล่าสุด สปสช.ได้มีการปรับกระบวนการจ่ายเงินคืนให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 15 วันเท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาในจุดนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ รพ.เอกชน และไม่ต้องไปเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยก่อน

นอกจากนี้ จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะเดินเข้าไปรับการตรวจรักษาที่ รพ.เอกชน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ทันท่วงที

เลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า จากกรณีความไม่มั่นใจของประชาชนว่าจะเกิดอาการข้างเคียงภายหลังจากการได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิดนั้น ล่าสุดบอร์ด สปสช. ได้มีมติอนุมัติให้ประชาชนสามารถได้รับเงินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากการฉีดวัคซีนได้ แบ่งเป็น 1.กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท 2.กรณีเสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท 3.กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งภายหลังจากที่ สปสช.ได้รับเรื่องร้องเรียนและมีเอกสารยืนยันครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการจ่ายเงินให้ภายใน 5 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , ,
Back to Top