ศบค.พบผู้ติดโควิดใหม่ 1,919 ราย ในปท. 1,318-ตรวจเชิงรุก 584-ตปท. 17,ตาย 31

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 86,924 คน (+1,919)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,318 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 584 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 17 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 57,037 คน (+1,829)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,435 คน (+59)
  • เสียชีวิตสะสม 452 คน (+31)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,919 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,318 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 584 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ประกอบด้วย ผู้มีสัญชาติไทยมาจากอินเดีย 11 ราย, กัมพูชา 3 ราย, ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแอฟิกา ประเทศละ 1 ราย

“ผู้ที่เดินทางมาจากอินเดียทั้ง 11 ราย เป็นคนไทยที่มีสิทธิเดินทางเข้ามาได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องคัดกรองโรคก่อนขึ้นเครื่องเหมือนตนต่างชาติ แต่เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว เรามีระบบคัดกรองที่ดี ทำให้สามารถตรวจจับได้ทันทีเมื่อมาถึง และหลังเข้าที่พักแค่เพียงวันเดียว”

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าว

โฆษก ศบค.ยืนยันว่า ศบค.ให้ความสำคัญต่อปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ โดยมีการสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจับตาดูอย่างใกล้ชิดในกระบวนการคัดกรองตามช่องทางปกติ แต่ที่เป็นกังวลคือกรณีที่มีผู้ลักลอบเข้าประเทศมาตามช่องทางธรรมชาติที่ยังพบอย่างต่อเนื่อง

  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย เป็นชาย 15 ราย และหญิง 15 ราย มาจากกทม.ถึง 17 ราย และเป็นเพศชาย 15 ราย เพศหญิง 16 ราย อายุเฉลี่ย 34-94 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูงถึง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว และผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ไปสถานที่แออัด

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 86,924 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 58,534 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 24,983 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,407 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 57,037 ราย เพิ่มขึ้น 1,829 ราย กำลังรับการรักษา 29,435 ราย อาการหนักปอดติดเชื้อ 1,207 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 452 ราย

สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 855 ราย, ปทุมธานี 160 ราย, นนทบุรี 141 ราย, จันทบุรี 89 ราย, ชลบุรี 73 ราย, สมุทรปราการ 70 ราย, ระนอง 44 ราย, สุราษฎร์ธานี 42 ราย, นครราชสีมา 38 ราย และ สมุทรสาคร 35 ราย

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่ 13 เขต โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกล่าสุดเมื่อวานนี้ ได้แก่ คลองเขต, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, จตุจักร, ปทุมวัน, ดินแดง, วัฒนา, ลาดพร้าว, ราชเทวี, พระนคร, สวนหลวง, ดุสิต, สัมพันธวงศ์ และ สาทร เพื่อเร่งค้นหาผู้ป่วยออกจากชุมชนมาเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

“สถานการณ์การแพร่ระบาดทรงตัว และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระลอกก่อนหน้านี้ที่กินเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ แต่ระลอกเดือนเมษายนผ่านมาเดือนครึ่งแล้วยอดผู้ติดเชื้อรายใหญ่ยังสูงกว่าเดิมมาก ซึ่งอยากขอความร่วมมือให้งดเรื่องการเล่นพนันที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาจนทำให้การแพร่ระบาดต้องขยายเวลาออกไป”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับขยายกลุ่มเป้าหมายในการได้รับวัคซีนเพิ่มเติมจากเดิมที่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่โรคประจำตัว เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเพียง 1.6 ล้านคน ขณะที่จัดเตรียมวัคซีนไว้ 16 ล้านโดส และล่าสุดมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,898,454 โดส

ส่วนการฉีดวัคซีนจะล่าช้าหรือเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ยังบอกไม่ได้ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการติดตามเร่งรัดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

สำหรับการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหลังครบกำหนดในวันที่ 14 พ.ค.นี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ได้ให้สมาคมภัตตาคารไทยนำเสนอมาตรการที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมาให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปพิจารณาเรื่องการจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 159,596,606 ราย เสียชีวิต 3,317,492 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,515,308 ราย อันดับสอง อินเดีย 22,991,927 ราย อันดับสาม บราซิล 15,214,030 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,780,379 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,044,936 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top