KKP มองไทยอาจรับผลเสียทั้งด้านการค้าการลงทุนหากต้องเลือกข้างศึกสหรัฐ-จีน

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) เปิดเผยบทวิเคราะห์ “ลูกหลงต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อยักษ์ใหญ่โรมรัน ตอนที่ 1” ว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งในเรื่องการสอดแนมทางเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การค้าอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระแสทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง (Stakeholder Capitalism) จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐเข้ามาตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น และเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับไปยังสหรัฐฯ หรือกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิค

ห่วงโซ่อุปทานในประเทศจีนบางส่วน รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor intensive sector) จะกระจายออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ด้วยต้นทุนแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าจีน รวมไปถึงความใกล้เคียงกันของโครงสร้างการส่งออกของอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของการนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสัดส่วนที่หายไปจากจีนไปเพิ่มขึ้นที่เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่สำหรับประเทศไทยนั้น สัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

สหรัฐฯ จะพยายามสร้างพันธมิตรในการกีดกันจีน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระเบียบ กฎกติกา และสถาบันพหุภาคี และกดดันให้จีนกลับมาเป็นผู้เล่นที่ดีในกฎเกณฑ์ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ สหรัฐฯ จะทำให้จีนเห็นว่าการไม่ให้ความร่วมมือต่อระเบียบและกฎกติกาโลกที่สหรัฐฯ เป็นคนกำหนด จะส่งผลกระทบทางลบย้อนกลับมาที่จีนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาจเห็นสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้าพหุภาคี CPTPP หรือสร้างข้อตกลงการค้าในลักษณะเดียวกันนี้ก็เป็นได้ ซึ่งหากสหรัฐและกลุ่มประเทศที่สนใจ เช่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่ง ไต้หวัน กลับเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะทำให้ข้อตกลงนี้ มีขนาด GDP รวมกันถึง 44% ของโลกและมีประชากรรวมกันสูงถึง 17% ของประชากรโลก

ขณะเดียวกันแรงกดดันจากสหรัฐฯ และประเทศภาคีของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้จีนจะหันมาเพิ่มการผลิต การบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อลดการพึ่งพาประเทศตะวันตก และลดความเสี่ยงจากการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน และขยับตนเองไปอยู่ต้นน้ำในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value chains) อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้มีแผนที่จะแยกตัวเองออกจากโลกทั้งหมด แต่จะยังคงเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโลกและจะรักษาอำนาจการต่อรองผ่านการค้าระหว่างประเทศ เราได้เห็นความพยายามนี้ผ่านข้อตกลงการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่จีนและกลุ่มประเทศอื่น ๆ ได้ลงนามสนธิสัญญาในปี 2020

KKP Research ประเมินว่า สิ่งที่ไทยจะต้องเผชิญภายใต้ความตึงเครียดที่จะมีมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีดังนี้

  1. ถ้าจำเป็นต้องเลือกข้าง ไทยจะได้รับผลกระทบทางลบด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดสองอันดับแรกของไทย
  2. ไทยจะได้ประโยชน์อย่างจำกัดจากการย้ายห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยความสามารถในการแข่งขันของไทยที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ที่ทำให้ไทยอาจไม่เป็นที่น่าดึงดูดในการเป็นฐานการผลิต
  3. ไทยอาจพลาดโอกาสได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจากความด้อยประสิทธิภาพด้าน ESG
  4. ต้นทุนของไทยจากการไม่เข้าร่วม CPTPP จะสูงขึ้นอย่างมากหากสหรัฐฯ และพันธมิตรเข้าร่วม
  5. การท่องเที่ยวไทยอาจหวังพึ่งการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้อย่างในอดีต
  6. ค่าเงินบาทอาจได้รับแรงกดดันเปลี่ยนทิศทางเป็นอ่อนค่าหากไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top